Monday, December 05, 2005

Principle of Equivalent Trade

“คนเราไม่สามารถที่จะได้อะไรมาโดยไม่เสียบางสิ่งบางอย่างไปเป็นการแลกเปลี่ยน ..

การที่คนเราจะได้สิ่งใดมานั้นจำเป็นต้องแลกด้วยสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกัน

...นี่คือกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันของการเล่นแร่แปรธาตุ”

แอนิเมชั่นเรื่อง “แขนกลคนแปรธาตุ” หรือ Full Metal Alchemist ได้บัญญัติกฎนี้ไว้ ในเรื่องราวของสองพี่น้องตะกูลเอลริค ผู้เดินทางตามหาศิลานักปราชญ์ ในยุคสมัยที่การเล่นแร่แปรธาตุนั้นเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ผู้มีความรู้ในศาสตร์แขนงนี้สามารถแปรเปลี่ยนสภาพวัตถุใดๆได้ดั่งเนรมิต ตราบเท่่าที่สรรพสิ่งที่ถูกแปรสภาพไปแล้วนั้นประกอบขึ้นจากสสารที่รวมกันเป็นตัววัตถุเมื่อเริ่มแรก

ในปฐมบทของเรื่อง “แขนกลคนแปรธาตุ” นี้ อัลฟองเซ่ เอลริคนักแปรธาตุผู้น้องได้ทำการซ่อมวิทยุที่ชำรุดเสียหาย ด้วยการวาดวงแหวนเวทย์ แล้วทำการร่ายมนต์แปรสภาพให้วิทยุที่ชำรุดนั้นกลับมามีสภาพดังเดิม

การแปรสภาพของที่ชำรุดให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีดังเดิมนั้น เป็นไปตามกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน เพราะวิทยุที่อยู่ในสภาพปกติ ประกอบด้วยสสารเดียวกันกับวิทยุที่อยู่ในสภาพชำรุด การแปรสภาพวัตถุที่เกิดขึ้นจึงมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่า ภายใต้กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันนี้ นักเล่นแร่แปรธาตุไม่สามารถแปลงวัตถุหนึ่งๆ ให้กลายเป็นสิ่งของที่กอปรขึ้นจากสสารที่มีองค์ประกอบแตกต่างกันไปได้ เช่นไม่สามารถแปลงอาหารให้กลายเป็นรถยนตร์ได้

ผู้ใดก็ตามที่กล่าวอ้างว่าตนเองอยู่เหนือกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ใช้กลอุบายบางประการหลอกลวงตบตาสาธารณชน

ในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นก็มีกฎของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันอยุ่ด้วยเช่นกัน

คนที่เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาบ้างคงจดจำได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพราะว่าเรามีหลากหลายทางเลือกในการใช้ทรัพยากร แต่เนื่องจากความมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรนั้น เราจึงต้องทำการเลือก

เลือกว่า จะใช้ทรัพยากรนั้นๆไปในทางเลือกใด ในจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น เวลาในหนึ่งวันถูกจำกัดไว้ที่ ยี่สิบสี่ชั่วโมง คนเรามีทางเลือกในการใช้เวลาได้มากมาย ไม่ว่าจะใช้เวลาที่มีเพื่อทำมาหากิน สร้างรายได้ หรือใช้เพื่อการพักผ่อน เที่ยวเตร่ เราอาจจะอยากให้เวลาที่มีกับทุกกิจกรรม อยากให้เวลากับการทำงานมากๆ เพื่อที่จะได้มีเงินเยอะๆ ในขณะเดียวกัน ก็อยากจะเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูง หรือคนรัก เพราะการใช้เวลากับการสังสรรค์เช่นนี้ ให้ความสุขกับเรา

น่าเสียดายที่คนเราไม่สามารถได้ทุกอย่าง พร้อมๆกัน เพราะในหนึ่งวันนั้นมีเวลาจำกัดเพียงยี่สิบสี่ชั่วโมง ถ้าหากเราใช้เวลากับการทำงานมากขึ้นอีกหนึ่งชั่วโมง นั่นหมายความว่า เวลาที่สามารถจัดสรรไปให้กับกิจกรรมอื่นๆได้นั้นจะลดลงไปหนึ่งชั่วโมงด้วย

นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า ในแต่ละทางเลือกของการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์นั้นมีต้นทุนของทางเลือกให้เราพิจารณาประกอบเสมอ เช่นต้นทุนของการใช้เวลาไปเที่ยวเตร่หนึ่งชั่วโมง อาจจะเป็นรายได้ที่หดหายไปจากการที่เรามิได้ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นไปเพื่อการทำงาน

ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ โอกาสที่สูญเสียไปนี้คือต้นทุน ซึ่งเราเรียกว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity Cost นั่นเอง ทุกทางเลือกมี Opportunity Cost เสมอ

ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคล นักเศรษฐศาสตร์จะสมมุติว่า คนคิดอย่างมีเหตุมีผล ดังนั้นการเลือกกระทำสิ่งใด บุคคลจะชั่งแล้วซึ่งผลได้และต้นทุนทางเลือก หากบุคคลเลือกที่จะใช้เวลา หนึ่งชั่วโมงถัดไปนี้ สำหรับการเที่ยวเตร่ นั่นย่อมหมายความว่า เขาได้ไตร่ตรองแล้วว่าผลได้ หรือความสุขที่ได้จากการใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นสำหรับการเที่ยว คุ้มกับต้นทุนค่าเสียโอกาสของการใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นไปกับกิจกรรมอื่นๆ

หากความสุขที่ได้จากการเที่ยวเตร่หนึ่งชั่วโมงสูงกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส การจัดสรรเวลาให้กับการเที่ยวเตร่เพียงหนึ่งชั่วโมงอาจไม่เพียงพอ เราสมควรจัดสรรเวลาให้กับการเที่ยวเตร่ไปเรื่อยๆจนกว่าเราพบว่า ความสุขที่ได้จากการเที่ยวเตร่ในชั่วโมงท้ายสุดนี้ เท่ากับต้นทุนค่าเสียโอกาสพอดี

นี่คือเกณฑ์ในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ต่างไปจากกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันของนักเล่นแร่แปรธาตุข้างต้น

เกณฑ์การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ใช้ได้กับทุกหน่วยเศรษฐกิจในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ครัวเรือน หน่วยผลิต หรือแม้กระทั่งรัฐบาล

ยิ่งรัฐบาลในยุคสมัย “สี่ปีสร้าง” ภายหลังจาก “สี่ปีซ่อม” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องคำนึงถึงเกณฑ์การจัดสรรทรัพยากรข้างต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลได้มีอภิมหาโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ภายในระยะเวลาสามสี่ปีข้างหน้า แม้ว่าจำนวนเงินงบประมาณจะมากมายแค่ไหน แต่รัฐบาลก็ยังคงต้องพิจารณาถึงทางเลือกการใช้งบประมาณนั้นอยู่ดี

รัฐบาลต้องไตร่ตรองถึงผลได้ของแต่ละโครงการ เที่ยบกับต้นทุนค่าเสียโอกาสของการจัดสรรเงินงบประมาณในโครงการนั้นๆ ให้กับโครงการสาธารณะอื่นๆ ซึ่งการพิจารณถึงผลได้ของแต่ละโครงการต้องมีการนับรวมเอาประโยชน์ (เช่นเดียวกับต้นทุน) ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว (ทั้งที่วัดด้วยตัวเงินได้ และวัดไม่ได้) เข้าไว้ด้วยเสมอ

โครงการใดๆก็ตามที่รัฐบาลตัดสินใจใส่เงินทุนไป ต้องเป็นโครงการที่รัฐบาล “ตอบ” สังคมได้ว่า คุ้มกับต้นทุนค่าเสียโอกาส

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องไม่ลืมว่า เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลนี้ มีที่มาจากภาษีของประชาชน ยิ่งวงเงินงบประมาณมาก ประชาชนยิ่งต้องเสียภาษีมากเป็นเงาตามตัว อภิมหาโครงการมูลค่าล้านล้านบาทจึงมีความหมายเท่ากับอภิมหาภาษีมูลค่าล้านล้านบาท ฉันใดก็ฉันนั้น

ดังนั้น สาธารณูปโภค หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมมูลค่ามหาศาล มิอาจเนรมิตขึ้นมาได้จากอากาศธาตุ ของเหล่านี้จะได้มา ต้องมีการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีมูลค่าเท่าเทียมกัน หากจะผลักดันให้จีดีพีโตแบบก้าวกระโดด ด้วยการทุ่มเงินรัฐสร้างเมกะโปรเจ็ค รัฐบาลต้องแลกด้วยเงินภาษีของประชาชน (บวกกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ)

ไม่มีทางที่เราจะฝืนกฎของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันได้

ในเอพิโสดแรกของ “แขนกลคนแปรธาตุ” นั้น สองพี่น้องเอลริคเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ที่ดูเสมือนว่า จะเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ ในหมู่บ้านนี้ มีวิหารของนักบวชผู้ทรงปาฏิหารย์เป็นศูนย์กลาง ผู้คนให้ความเชื่อถือในคำสอน และพร้อมจะทำทุกอย่างตามที่นักบวชผู้นั้นบัญชา โดยไร้ข้อกังขา

สาเหตุที่ผู้คนเลื่อมใสในตัวนักบวชผู้นี้อย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น สืบเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจในหมู่บ้านนี้อยู่ในภาวะบอบช้ำ สูญเสียแรงงานชายไปกับภาวะสงคราม ผู้คนต่างอยู่ในภาวะหดหู่ หมดหวัง ก่อนที่นักบวชผู้นี้เข้ามายังหมู่บ้าน และด้วยปาฏิหารย์ ที่นักบวชแสดงให้ผู้คนประจักษ์ ผู้คนเริ่มมีความหวังว่า จะสามารถได้คนที่เป็นที่รักกลับคืนมา เพราะเชื่อว่านักบวชผู้นี้สามารถชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นขึ้นมาได้ ผู้คนในหมู่บ้านจึงเริ่มมีกำลังใจในการดำรงชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง และต่างก็พากันฝากความหวังในชีวิตไว้กับนักบวชผู้นี้ด้วย

คนในหมู่บ้านต่างไม่ทราบเลยว่า ปาฏิหารย์ของนักบวชนี้เกิดจากการใช้หินวิเศษ เนรมิตสิ่งหลอกลวงขึ้นทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่นักบวชนี้กระทำขัดต่อกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่ากัน หากจะชุบชีวิตคนตายขึ้นมาใหม่ จะต้องแลกจิตวิญญาณของคนตายให้หวนคืนมา ด้วยสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกัน การสร้างชีวิตมิอาจเนรมิตขึ้นมาได้ลอยๆ สองพี่น้องเอลริคได้ทำการเปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของนักบวชลวงโลกผู้นี้ในที่สุด

เราคงไม่อาจโทษผู้คนในหมู่บ้านที่หลงไปให้การนับถือเจ้านักบวชลวงโลกผู้นั้นได้ ประสบการณ์ในชีวิตก็มีให้พบเห็นเสมอๆ ว่า ในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง ย่อมมองหา และอยากไขว่คว้าอัศวินผู้มากับอาชาแห่งความหวัง ความต้องการเช่นนี้ มักทำให้คนละเลยที่จะแยกแยะระหว่าง ศาสตร์ของนักแปรธาตุ และ กลลวงโลกจอมปลอม

อ้อ...ลืมเล่าไปนิดว่า นักบวชลวงโลกคนนี้ชอบถ่ายทอดคำสอน ให้ผู้คนหลงงมงาย โดยผ่านการเทศน์รายวันทางวิทยุ

7 Comments:

At 12:54 AM , Anonymous Anonymous said...

อาจารย์ได้ดูต่อหรือเปล่าว่าจุดสุดท้ายของเมือง

ที่มีนักบวชชอบเทศน์ผ่านทางวิทยุเป็นอย่างไร

แม้ Edward จะเชื่อว่าตนเป็นผู้กอบกู้เมือง

โดยกระชากหน้ากากทรราชย์ เอ๊ย นักบวช

ให้ชาวเมืองได้ประจักษ์

แต่สุดท้าย นักบวช(ตัวปลอม - ร่างทรง)ก็กลับมา

และนำหายนะมาสู่เมืองอยู่ดี

จะว่าไปดู ๆ ไปก็รู้สึกเหตุการณ์ตอนนี้มันคุ้น ๆ

เหมือนกัน แต่ไม่รู้จะจบแบบเดียวกันไหม

 
At 11:26 AM , Blogger The Corgiman said...

ใช่ๆ ซึ่งคนที่บงการอยู่เบื้องหลังนักบวชเนี่ยก็คือ

"นายหญิง" ด้วยนี่นา

 
At 10:00 PM , Anonymous Anonymous said...

It is good to see something here when I open the blog, will spend more time reading it a bit later. It sounds interesting...as always.

 
At 10:55 PM , Anonymous Anonymous said...

อ๊ะ ใช่ ๆ ลืม "นายหญิง" ไปได้ไงเนี่ย

นายหญิงที่มีบริวารที่หิวและพร้อมจะกินทุกอย่าง

ที่ขวางหน้าตลอดเวลา

 
At 6:28 PM , Blogger Gelgloog said...

เรื่องนี้สนุกดีครับ

ผมติดตามอ่านในส่วนของการ์ตูน แต่ไม่ได้ดูอนิเมชั่นแฮะ

สำหรับข้อคิดดของอาจารย์น่าสนใจมากครับ ว่าแต่ว่าคุณ"นักบวช"เค้าจะรู้ตัวรึเปล่าอ่ะดิ อิอิ

 
At 10:05 AM , Blogger The Corgiman said...

คุณ Gelgoog ลองไปหา vcd หรือ dvd มาดูซิครับ หนังทำไม่ตรงกับในภาคคอมิคส์ นะครับ จัดลำดับเนื้อเรื่องต่างกันเลย แต่ก็สนุกไม่แพ้กัน

ดูพระเอกเรื่องนี้แล้วค่อยยังชั่วหน่อย ไม่อรชรอ้อนแอ้นเหมือนพวก พวกพระเอกลิเกใน Seed หรือ Seed Destiny ที่สำคัญคือ ไม่มีฉากผู้ชายอาบน้ำแบบใน Seed ด้วย

 
At 1:25 AM , Blogger kickoman said...

พอไดอ่านบลอกนี้เลยไปหาการ์ตูนมาอ่านแล้วครับ กำลังติดเลย

dvd หาที่ไหนอ่ะครับ

 

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home