Thursday, July 14, 2005

Make Poverty History กับวาระการพัฒนาเศรษฐกิจ: Director's Cut

เมื่อยี่สิบปีก่อน บ็อบ เกลดอฟเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดมหกรรมคอนเสิร์ต Live Aid ที่รวบรวมเอาศิลปินชื่อดังในสาขาเพลงป๊อป และร๊อคในยุคสมัยนั้น มาร่วมแสดงดนตรีเพื่อชักชวนให้ประชาชนทั่วโลกร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในประเทศเอธิโอเปีย

เงินบริจาคท่ีรวบรวมได้นั้นต่อมาถูกนำไปบริหารจัดการในรูปแบบของกองทุน ซึ่งบ็อบ เกลดอฟได้ดำเนินการดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เงินทั้งหมดถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของชาวเอธิโอเปียอย่างแท้จริง กองทุนดังกล่าวปิดตัวลงเมื่อปี 1992 ภายหลังจากที่สามารถระดมเงินช่วยเหลือได้สูงถึง 144 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวาระที่กองทุนนี้ได้ยุติบทบาทของตัวเองลง เกลดอฟได้ออกแถลงการณ์ซึ่งมีใจความบางส่่วนดังนี้

“It seems so long ago that we asked for your help. Seven years ... you can count them now in trees and dams and fields and cows and camels and trucks and schools and health clinics, medicines, tents, blankets, clothes, toys, ships, planes, tools, wheat, sorghum, beans, research grants, workshops....I once said that we would be more powerful in memory than in reality. Now we are that memory”

แม้ว่าเงินช่วยเหลือที่มอบให้นั้น จะช่วยให้ประเทศเอธิโอเปียได้มีอาหาร ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต สรรพสิ่งอันจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ และการศึกษา แต่ความยากจนยังคงเป็นปัญหาคุกคามชีวิตชาวแอฟริกัน ...จวบจนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กรกฏาคมที่ผ่านมานี้ เซอร์ บ็อบ เกลดอฟ ใช้โอกาสที่ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้ง 8 ชาติ (G8) มาร่วมประชุมกันที่โรงแรม กลีนีเกิลส์ ในประเทศสก็อตแลนด์ ระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 กรกฏาคม จัดมหกรรมคอนเสิร์ตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ชื่อคอนเสิร์ตที่ล้อกับมหกรรมฯเมื่อยี่สิบปีก่อน และการประชุมสุดยอด G8 ว่า “Live8” โดยจะมีการแสดงดนตรีพร้อมๆกันในสิบมหานครทั่วโลก

แต่ทว่าวัตถุประสงค์ของการจัดในครานี้ กลับมิใช่การระดมเงินบริจาคดังเช่นเมื่อครั้งยี่สิบปีก่อน หากแต่เป็นการรณรงค์เพื่อเชิญชวนให้ประชาคมโลก ร่วมกันแสดงจุดยืนต่อการแก้ปัญหาความยากจนในทวีปแอฟริกากันโดยพร้อมเพรียง ก่อนหน้าการประชุม G8
เพราะว่าในการประชุมครั้งนี้ได้มีการบรรจุวาระเรื่องมาตรการแก้ปัญหาความยากจนในทวีปแอฟริกาเข้าไว้ด้วย ...มติของที่ประชุมว่าด้วยมาตรการแก้ปัญหา ย่อมมีผลอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทวีปแอฟริการจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าผู้ที่มีสิทธิขาดในการกำหนดชะตาชีวิตของประชาชนในทวีปที่ยากจนที่สุดของโลกกลับเป็นผู้นำชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น...

เพื่อร่วมกัน “ขจัดความยากจนให้กลายเป็นประวัติศาสตร์” (Make Poverty History) ผู้จัดคอนเสิร์ต Live8 เรียกร้องให้ผู้ชมทั่วโลกร่วมกันลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องสามประการ ที่จะถูกส่งต่อให้กับที่ประชุม G8 ข้อเรียกร้องทั้งสามประการประกอบด้วย

หนึ่ง การแก้ไขกติกาการค้าโลกเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประเทศโลกที่สามมากยิ่งขึ้น

สองการยกเลิกหนี้ที่ประเทศยากจนทั้งหลายไม่มีปัญญาจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ต่างชาติได้อย่างครบถ้วน และ

สาม การเพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับประเทศยากจน และทั้งมุ่งเน้นถึงประโยชน์ที่จะตกกับประเทศผู้รับอย่างรอบคอบไตร่ตรองมากยิ่งขึ้น

การรณรงค์ในครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มวลชนทั่วโลก สามารถมีส่วนร่วมผลักดันให้การแก้ปัญหาความยากจนในประเทศโลกที่สาม เป็นไปในทิศทางที่ประชาคมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน เพราะผู้คนในทุกมุมโลกสามารถแสดงแสดงตนสนับสนุข้อเสนอทั้งสามได้ เพียงร่วมลงชื่อสนับสนุน ผ่านทางเว็ปไซต์ www.live8live.com ซึ่งรายชื่อของผู้สนับสนุนนี้ จะเป็นกระบอกเสียงที่สื่อฉันทามติของประชาคมโลก ให้เหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับทราบ

และก็เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เช่นกันที่พลังมวลชน โดยการขับเคลื่อนของมหกรรมร็อคคอนเสิร์ตสามารถโน้มน้าวให้เหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเห็นพ้องตามข้อเสนอทั้งสามได้ โดยผู้นำ G-8 ได้สัญญาว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศแอฟริกาเป็นสองเท่าภายในปี 2010 โดยระบุจำนวนเงินไว้ด้วยว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เป็น 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีมติให้ยกเลิกหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของประเทศแอฟริกาที่ยากจนที่สุดจำนวน 14 ประเทศ

สำหรับในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับกติกาการค้านั้น ทางผู้นำกลุ่มประเทศ G8 ได้สัญญาว่าจะกลับไปพิจารณา และจะทบทวนมาตรการกีดกันสินค้าจากประเทศด้อยพัฒนา หรือมาตรการการสนับสนุนวิสาหกิจในประเทศอีกรอบหนึ่งก่อน

แม้ว่า หลายฝ่ายจะพึงพอใจกับท่าทีและข้อตกลงจากการประชุมครั้งนี้ แต่เป็นที่น่ากังขาอยู่ดีว่า ผู้นำ G8 นั้นได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าว เพราะแรงกดดันของพลังมวลชน หรือว่าเป็นเพราะข้อเสนอทั้งสามมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนด้วย

หากจะพิจารณาข้อเสนอทั้งสามตามกรอบการวิเคราะห์แบบนีโอคลาสสิคอันว่าด้วยทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Neo-classical Growth Theory) แล้ว นักเศรษฐศาสตร์คงปัดข้อเสนอดังกล่าวทิ้งไป เพราะวิเคราะห์แล้วว่า ไม่มีผลใดๆต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาในระยะยาว

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะว่าตามแนวคิดเชิงทฤษฎีนี้ ระบุว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจใดๆในระยะยาวนั้นจะถูกกำหนดด้วย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพียงประการเดียวเท่านั้น และเมื่อทุกประเทศต่างสามารถเข้าถึงตัวเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ในระยะยาว มาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกประเทศก็ย่อมจะมีการเติบโตในอัตราเดียวกันด้วย นั่นหมายความว่า ในอนาคตนั้น ความแตกต่างในรายได้ ระหว่างประเทศโลกที่หนึ่ง และประเทศโลกที่สาม จะไม่ปรากฎให้เห็นอีกต่อไป

กลไกที่ทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในต่างระบบเศรษฐกิจวิ่งเข้าหากันได้นั้น เกิดจากการที่ปัจจัยการผลิตที่แต่ละประเทศใช้นั้น (ซึ่งอาจแสดงด้วยสัดส่วนของทุนต่อแรงงานฝีมือ) ให้ผลตอบแทน (ในรูปผลผลิตส่วนเพิ่มจากการใช้ปัจจัย) ที่ลดลงตามขนาดการใช้ปัจจัย หรือที่เรียกว่า กฎการลดลงของผลตอบแทน (The Law of Diminishing Returns)

ประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มีสัดส่วนทุนต่อแรงงานฝีมือที่มากกว่า ย่อมมีผลตอบแทนต่อปัจจัยทุนต่ำกว่า ประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจต่ำกว่า (ตาม The Law of Diminishing Returns) ดังนั้นในภาวะตลาดการเงินโลกที่เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้โดยเสรี เราจะเห็นเงินทุนหรือปัจจัยทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศพัฒนาแล้ว มาสู่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแสวงหาผลตอบแทนต่อปัจจัยทุนที่สูงกว่า และด้วยกลไกนี้เองที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีปัจจัยทุนเพิ่มมากขึ้น และมีสัดส่วนของทุนต่อแรงงานฝีมือ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเคลื่อนย้ายของเงินทุนจะดำเนินไปจนกว่า ระดับของปัจจัยทุนต่อแรงงานฝีมือในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับระดับของปัจจัยทุนต่อแรงงานฝีมือในประเทศด้อยพัฒนา (ซึ่งหมายความว่าอัตราผลตอบแทนของปัจจัยทุน ระหว่างสองประเทศนี้จะต้องเท่ากันด้วย)

ตามแนวคิดทฤษฎีนี้ กลไกในระบบเศรษฐกิจโลกเสรี มีเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้ประเทศยากจน สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้ หากเพียงประเทศกำลังพัฒนาสามารถ ขจัดอุปสรรคที่กีดกั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และกีดขวางการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีออกไปให้หมดสิ้นได้
แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากงานวิจัยของโปรเฟสเซอร์ โรเบิร์ต โซโลว์ (Prof. Robert Solow) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย M.I.T. ที่คิดค้นทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่ ปี 1956 (ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้โปรเฟสเซอร์ โซโลว์ ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี คศ 1987) อย่างไรก็ดี มุมมองจากทฤษฎีว่าด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ กลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม

ตามแนวคิดทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่นั้น (New Growth Theory) เชื่อว่า ความแตกต่างในมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนต่างระบบเศรษฐกิจ อาจปรากฎอยู่ตลอดไปได้ และในที่สุดแล้ว ประเทศในโลกอาจถูกแบ่งแยกตามระดับรายได้ออกเป็นสองขั้วที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ขั้วที่หนึ่งคือ กลุ่มของประเทศยากจน และขั้วที่สองคือกลุ่มของประเทศร่ำรวย ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประเทศจะเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่อาจลบไปจากประวัติศาสตร์ได้

ข้อสรุปของแนวคิดนี้สอดคล้องกับอนิจจะลักษณะที่พบในประเทศยากจน ที่ตกอยู่ในวังวนของสภาพ “โง่ จน เจ็บ” เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศยากจนในโลกมักจะถูกรุมเร้าด้วยปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาความอดอยาก ถูกคุกคามด้วยโรคร้าย และไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหลุดออกจากกับดักความยากจนนี้ได้ ดังนั้นรายได้ของประเทศเหล่านี้จะอยู่ที่ขั้วที่หนึ่งไปตลอดกาล

ภาวะเช่นนี้สอดรับกับข้อเสนอที่เรียกร้องให้เพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับประเทศยากจนเป็นอย่างดี เพราะเงินช่วยเหลือจำนวนที่มากขึ้นนั้น สามารถช่วย “ผลัก” ให้ประเทศยากจนหลุดออกจากกับดักความยากจนข้างต้นได้ ตัวอย่างเช่น เงินช่วยเหลือที่ได้รับนั้น สามารถนำมาใช้ซื้อหายารักษาโรค หรือใช้เพื่อการขจัดต้นตอของโรคร้าย ให้หมดสิ้นไปได้ ดังนั้นเงินช่วยเหลือที่ได้รับนั้น สามารถช่วยตัดตอนวงจร โง่ จน เจ็บ นี้ได้ แคมเปญ “Make Poverty History” ตอกย้ำตลอดว่า คนจำนวน 50,000 คนต้องเสียชีวิตลงทุกๆวัน ด้วยโรคที่สามารถรักษาได้ ดังนั้นข้อเสนอว่าด้วยเงินช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากแนวคิดทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่

ผลของการยกเลิกหนึ้ต่างประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากใครได้มีโอกาสเข้าไปชมเว็ปไซต์ของแคมเปญนี้ จะพบข้อความที่กล่วถึงผลของการลดภาระหนี้ต่างประเทศในประเทศแทนซาเนีย ในเว็ปนั้นกล่าวว่า ภาระหนึ้ต่างประเทศที่ลดลงช่วยให้รัฐบาลแทนซาเนียสามารถยกเลิกค่าเล่าเรียนในระดับประถมได้ และช่วยให้จำนวนนักเรียนประถมเพิ่มสูงขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศ เบนิน เงินที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ช่วยให้รัฐบาลสามารถมีงบประมาณในการใช่จ่ายเพื่อสาธารณสุขมูลฐาน และโครงการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ได้เพิ่มมากขึ้น และในประเทศอูกันดา ภาระหนี้ที่ลดลง ช่วยให้คนจำนวน 2.2 ล้านคนสามารถมีแหล่งน้ำสะอาดเพื่อใช้ยังชีพ

จะเห็นได้ว่าการลดภาระหนี้ต่างประเทศช่วยให้หลายๆประเทศมีทรัพยากรที่จัดสรรให้กับ การศึกษา และสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองด้านนี้มีผลต่อการสั่งสมและพัฒนา ทุนมนุษย์ หรือ Human Capital ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิดทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ดังนั้นข้อเสนอที่ว่าด้วยการยกเลิกหนี้นั้น ก็ได้รับเสียงสนับสนุนด้วยเช่นกัน

สำหรับในประเด็นของกติกาการค้าโลกนั้น ในทางทฤษฎีนั้นการเปิดตลาดการค้าเสรี สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ย่อมส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่หลักฐานที่ปรากฎในขณะนี้นั้นยังไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปได้ว่า กติกาในปัจจุบันนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเสียทีเดียว เพราะประเทศกำลังพัฒนาในภูมภาคเอเซียจำนวนมากต่างมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดได้ ก็ด้วยอาศัยการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นข้อเรียกร้องนี้จึงยังไม่ได้รับข้อสนับสนุนเท่าใดนัก หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฎกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นประกอบ

ประเด็นทั้งสามนี้ยังคงมีคุณค่าเพียงพอ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยกันศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นต่อไป แต่กว่าที่เราจะมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ กระจ่างชัดในประเด็นทั้งสาม อาจใช้เวลานานเกินกว่าที่ชีวิตที่กำลังรอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจะรอได้ นับเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีแล้วที่ทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ได้มีการนำเสนอในแวดวงวิชาการ และสาขาวิชานี้ได้เติบโตอย่างมากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายว่าองค์ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นมานั้นยังไม่สามารถช่วยให้เราตอบโจทย์ของการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปได้ กุศโลบายในระยะสั้นนี้คงมีแค่ ช่วยเหลือให้ประชาชนในทวีปแอฟริการได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก่อน แล้วเราค่อยช่วยกันหาคำตอบทางเศรษฐศาสตร์กันภายหลัง ก็แล้วกัน

2 Comments:

At 4:45 PM , Blogger Be_my_angel said...

โห อาจารย์ขา เอามาปรับปรุงใหม่แบบว่าเพิ่มเนื้อหาการวิเคราะห์วิจัยเยอะเลยนะคะ แล้วฉบับนี้เอาไปลงหนังสือที่ไหนรึป่าวคะ จะได้ตามไปอ่านค่ะ อิ ๆ

 
At 11:42 PM , Blogger pin poramet said...

โผล่พ้นหลุมดำของอินเทอร์เน็ตสักที

 

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home