Wednesday, May 11, 2005

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ: ผลเสียทางเศรษฐกิจ

ข้อความตอนหนึ่งในบทความของคุณ โสภณ องค์การณ์ ที่ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม ช่วยเตือนความจำของผมเกี่ยวกับภาพเศรษฐกิจที่ใครคนหนึ่งเคยวาดฝันไว้ให้กับคนไทยสิบเอ็ดล้านคน เมื่อหลายปีก่อน

มีใครคนหนึ่งเคยให้สัญญาไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในศักราช “คิดใหม่ ทำใหม่” นั้น จะบันดาลให้เงินในกระเป๋าของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกๆ 6 เดือน
ผมเชื่อว่าสี่ปีที่ผ่านมานั้น เงินในกระเป๋าคนไทยคงเพิ่ีมขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย มิเช่นนั้นแล้วลำพังเพียงวาทกรรมเชยๆอย่าง “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” คงไม่ช่วยให้ใครคนนั้นหวนกลับมาใหญ่ได้อีกครั้งหรอก

แต่ทว่าภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้กลับสวนทางกับคำมั่นสัญญานั้น เพราะไม่เพียงแต่เงินในกระเป๋าจะไม่เพิ่มในทุก 6 เดือนแล้ว ซ้ำร้ายกว่านั้น รายงานภาวะเงินเฟ้อที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อสัปดาห์ก่อนยังฟ้องว่า เงินที่เราฝากไว้กับธนาคารกลับพาลหดหายไปอีกด้วย

อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (ที่ถือเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย) ยืนอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25 ต่อปี เมื่อนำอัตราดอกเบี้ยมาลบออกด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะพบว่าส่วนต่างมีค่าติดลบเท่ากับ ร้อยละ 1.35 ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์เรียกอัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยอัตราเงินเฟ้อนี้ว่า “อัตราดอกเบี้ยแท้จริง” หรือ Real Interest Rate ในภาวการณ์ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงในระบบธนาคารของไทยติดลบอยู่

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงมีความหมายทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศกันตามธนาคารทั่วไป เพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงบอกถึงกำลังซื้อของคนฝากเงิน ขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นนะครับ สมมุติว่าเรามีเงินอยู่ 100 บาท ทางเลือกหนึ่งของการใช้เงินนี้ให้เกิดประโยชน์ คือเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้สำหรับการใช้จ่ายในวันข้างหน้า ด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร กำหนดให้ อัตราดอกเบี้ยสำหรับบัญชีเงินฝากที่ไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดเวลา 12 เดือนเท่ากับ ร้อยละ 1 (ต่อปี) ดังนั้นในหนึ่งปีถัดมา เราจะได้รับเงินทั้งต้นและดอก เท่ากับ 101 บาท

ในเวลาหนึ่งปีให้หลัง เงิน 101 บาท นี้จะมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าระดับราคาสินค้าในขณะนั้น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันนี้มากน้อยเพียงใด หากระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาก อำนาจซื้อของเงินในวันข้างหน้าก็จะลดน้อยลง

คำว่าระดับราคาสินค้าในที่นี้หมายถึงระดับราคาของกลุ่มสินค้าและบริการที่ประชาชนทั่วไปจับจ่ายซื้อเพื่อการบริโภค ตัววัดระดับราคาที่ว่านี้คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) และอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคนี้คืออัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) นั่นเอง

หากอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอยู่ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี นั่นหมายความว่าเสื้อกล้ามที่เคยมีราคาตัวละ 50 บาทในปีนี้ จะมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นตัวละ 52 บาทในปีหน้า ดังนั้นผู้ฝากเงิน 100 บาทไว้ในธนาคาร แล้วถอนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกมาเมื่อครบกำหนด จะพบว่าเงินที่เขามีในขณะนั้นไม่เพียงพอที่จะซื้อเสื้อกล้ามสองตัว ทั้งๆที่ ณ วันนี้เงินในมือเขาจำนวน 100 บาทยังสามารถซื้อเสื้อกล้ามได้ถึงสองตัว
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสำหรับการฝากเงินนี้เท่ากับ -3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่หดหายไป เนื่องจากผู้ฝากเงินซื้อหาสินค้าและบริการได้ในจำนวนที่น้อยลงกว่าเมื่อตอนก่อนฝากเงิน

ภาวการณ์ปัจจุบันเป็นดังในตัวอย่างข้างต้นนี้ รายงานเงินเฟ้อที่ปรากฎในสัปดาห์่ก่อน แสดงข้อมูลตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยแท้จริง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนเมษายน 2548 ในรายงานนั้นชี้ถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริง มีค่าติดลบตลอดช่วงเวลาดังกล่าว (แม้ว่าในรายงานนั้นจะไม่ได้กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ตาม แต่ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์คงทราบดีว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขณะนี้ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)

ตัวอย่างข้างต้นพอจะช่วยให้เห็นภาพได้ว่า อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่มีค่าติดลบนั้นจะมีผลเสียทางเศรษฐกิจได้อย่างไร สถานการณ์เช่นนีี้ทำร้ายผู้ที่พึ่งพาระบบธนาคาร ในฐานะเป็นแหล่งออมเงินไว้สำหรับอนาคต กลุ่มคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ย่อมต้องทนรับสภาพ และ ฝากเงินออมของตนไว้กับธนาคารต่อไป โดยจำก้มหน้ารับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ คนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และมีเงินออมไม่มากพอที่จะไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทอื่นๆ

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบนี้ยังมีผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย และการออมของครัวเรือนอีกด้วย เพราะเมื่อกำลังซื้อของเงินฝากลดถอยลง ครัวเรือนย่อมขาดแรงจูงใจที่จะเก็บหอมรอมริบไว้สำหรับวันข้างหน้า รายได้ในปัจจุบันจึงถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเสียในวันนี้แทน ดังนั้นเงินออมที่ครัวเรือนเก็บสำรองไว้เผื่อยามฉุกเฉินก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย และเมื่อหันมาพิจารณา กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและมีปัญหาภาระหนี้สุมตัวอยู่ ด้วยแล้วนั้น เกรงว่า เงินออมสะสมที่ลดน้อยลงนี้ จะทำให้ครัวเรือนในกลุ่มนี้ไม่มีทรัพยากรที่พอเพียงจะรองรับความต้องการใช้จ่ายหากสถานะของครัวเรือนนั้นๆเผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงขึ้น

เงินออมที่ลดลงและการเร่งใช้จ่ายในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนล้าเช่นนี้ เพราะ พฤติกรรมการใช้จ่ายที่มากเกินควรในปัจจุบันยังอาจเป็นตัวเร่งให้อุปสงค์มวลรวมมีมากเกินกว่าที่ภาคการผลิตจะตอบสนองได้ และสามารถเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีกด้วยได้

นอกจากนี้ การที่ระบบธนาคารยังอาจประสบปัญหาการขาดแคลนเงินฝาก อันเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของระบบ และ จะมีผลต่อเนื่องไปถึงด้านผู้ต้องการเงินทุนที่จะขอกู้เงินจากธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้กู้รายเล็กๆ เพราะธนาคารจำต้องทำการปันส่วนกองเงินทุนที่มีขนาดเล็กลงให้กับกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ และให้กับ กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่มีสัมพันธ์กับธนาคารมายาวนานก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดย่อมจึงยิ่งเลวร้ายมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเงินสมัยใหม่ของประเทศไทย จะพบว่า ประเทศไทยได้เคยประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบมาก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่หนึ่ง(ช่วงต้นทศวรรษที่ 70)และครั้งที่สอง(ช่วงต่อระหว่างปลายทศวรรษที่ 70 และต้นทศวรรษที่ 80) ผลพวงของเหตุการณ์ ในครานั้นคือการก่อเกิด และแพร่ระบาดของธุรกิจเงินนอกระบบ หรือธุรกิจแชร์ลูกโช่

ธุรกิจเงินนอกระบบนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงเวลาดังกล่าว เชื่อว่า ชื่อของแม่ชม้อย หรือแม่นกแก้วคงเตือนความทรงจำของคนรุ่นอายุ สี่สิบปีขึ้นไปได้เป็นอย่างดี ลูกค้าของธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประชาชนตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางลงมา เพราะคนเหล่านี้กำลังมองหาทางเลือกให้กับเงินออมของพวกเขา ดังนั้น เมื่อเจ้าของธุรกิจเงินนอกระบบโปรยคำชี้ชวนที่ช่วยให้พวกเขาอุ่นใจได้ถึงความมั่นคงของกองทุน พวกเขาจึงไม่รีรอที่จะนำเงินมาต่อแถวร่วมขบวน ทำให้สายโซ่ของวงแชร์ทอดยาวออกไปเป็นวงกว้าง

แม้ว่าหลายคนจะมองว่าวงแชร์ลูกโซ่จะสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับผู้ออมเงิน แต่เงินทุนที่ธุรกิจนอกระบบนี้ได้ไป มิได้ถูกเคลื่อนย้ายไปสู่หน่วยผลิตที่ต้องการเงินทุนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามธุรกิจเงินนอกระบบมักใช้เงินทุนที่ได้ไปในกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และมิได้ก่อใช้เงินทุนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรด้วย

จะเห็นได้ว่าผลเสียทางเศรษฐกิจของภาวะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบนั้นกินขอบเขตที่กว้างมาก ไล่ไปตั้งแต่ผู้ฝากเงินรายย่อย วิสาหกิจขนาดย่อม ไปจนถึงกระบวนการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจมหภาค ความกังวลที่แสดงออกมานี้อาจสวนทางกับกระแสแห่งความลิงโลดเบิกบานอันไร้เหตุไร้ผลอยู่บ้าง(ตามสำนวนแปลวลี Irational Exuberance ของอาจารย์ ไสว บุญมา) แต่ในภาวการณ์เช่นนี้การมองโลกในแง่ร้ายบ้างอาจเป็นการดี เพราะจะช่วยเพิ่มเกราะป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้กับตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อให้ใครมาเตือนเรา

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home