ขอเอี่ยวด้วยคน ...เรื่องนักวิชาการในฝัน
เห็นคุณปิ่น ปรเมศวร์เขียนเรื่องนักวิชาการในฝันมาหลายตอน ติดตามอ่านจนเกิดอาการอิน...ยิ่งตามไปอ่านในBlog ของคุณปริเยศด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกคันมากขึ้น..ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยนะครับ..
ผมไม่มีข้อโต้แย้งใดๆกับข้อเท็จจริงเรื่องนักวิชาการไทยไม่มีงานตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการชั้นนำของโลกในรอบห้าสิบปี..เพราะเท่าที่ผมทราบมาก็ตรงกับสิ่งที่คุณปริเยศว่าไว้
ในส่วนข้อสรุปที่ตามมาจากข้อเท็จจริงนี้ต่างหาก ที่ทิ่มแทงใจผม จนอยากร่วมแสดงความเห็นด้วย
เพราะข้อสรุปที่ว่า การไม่มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำของโลกนั้นสะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพของนักวิชาการในประเทศไทย ดูจะเป็นการชักนำข้อเท็จจริงเข้าสู่ข้อสรุปที่ก้าวกระโดดไปหน่อย
ถ้าผมเป็นผู้เฝ้ามองจากภายนอก และเห็นข้อเท็จจริงเช่นนี้ ผมคงถามตัวเอง หรือถามผู้รู้ในวงการก่อนว่า มันเกิดอะไรขึ้นในวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย
เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่ตลอดระยะเวลาห้าสิบปี ที่คนไทยจำนวนมากมายสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก ทุกคนต่างล้วนล้มเหลวในมาตรฐานของคุณปริเยศ ไม่สามารถนำงานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้ ..อย่างนั้นหรือ
..หรือว่าพวกเขาเหล่านั้น มีความสามารถอยู่บ้าง แต่ไม่คิดที่จะเขียนหรือส่งงานวิจัยไปลงตีพิมพ์..
หรือว่าเป็นเพราะ..ระบบหรือโครงสร้างในการทำงานวิชาการของเมืองไทย ..ที่ไม่เกื้อหนุนให้คนเหล่านั้นสนใจทำงานวิชาการแบบนักวิชาการเมืองนอก
..หรือเป็นเพราะว่า ..พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่มืออาชีพ..
(จริงๆแล้วคำว่ามืออาชีพ มันคลุมเครือเกินไปนิดนะครับ เอาเป็นว่า พวกนักวิชาการเหล่านั้นขาดทั้งฝีมือและความมุ่งมั่นในทางวิชาการ ทำให้ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับนักวิชาการในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก)
ตัวเลือกของคำตอบต่อข้อสังเกตุของผมมีหลายข้อ แต่คุณปริเยศ(ซึ่งผมเข้าใจว่าอยู่ในข่ายผู้เฝ้าดูจากภายนอก)เลือกที่จะสรุปว่า ..ตลอดห้าสิบปีมานี้ เราหามืออาชีพในวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ไม่พบเลย..
ผมมองว่าคุณปิ่น ปรเมศวร์ได้ให้มุมมองถึงสถานภาพของนักวิชาการไทย ในฐานะบุคคลผู้อยู่วงในไว้บ้างแล้ว ซึ่งตัวคุณปิ่นเองก็ถึงกับยอม เอี้ยวตัวบิดงอหงายหลัง เพื่ออธิบายกระบวนการตัดสินใจของนักวิชาการไทยด้วยภาษาของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่คุณปิ่นมิได้หลงไหลได้ปลื้มด้วยเท่าใดนัก
แม้จะชื่นชมในความพยายามของคุณปิ่น แต่ผม ในฐานะผู้ที่เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางวิชาการกับคุณปิ่นมาก่อน กลับรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่คุณปิ่นมิได้ให้น้ำหนักกับปัจจัยเชิงสถาบันในฐานะตัวกำหนดที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักวิชาการไทยมากเท่าที่ควร ไม่สมกับที่เคยอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งชุมชนเศรษฐศาสตร์สถาบันท่าพระจันทร์เลย
ตัวผมเองคิดว่าปัจจัยเชิงสถาบันมีพลังในการอธิบายมากกว่าปัจจัยส่วนบุคคล มิใช่เพียงยกตรรกะง่ายๆว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ตลอดห้าสิบปีจะไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่แย่จนขาดความเป็นมืออาชีพ
แต่ผมมองว่าวงการวิชาการเป็นกิจกรรมทางสังคมเหมือนกัน มันไม่สามารถก้าวเดินได้เพียงเพราะคนจำนวนแค่หยิบมือ แต่มันจะเติบโตพัฒนาได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในวงการจำนวนมาก ลอกคิดดูสิครับ ถ้าหากมีคนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก กลับมาทำงานในมหาวิทยาลัยของรัฐสักแห่ง โดยที่เหล่าเพื่อนร่วมงานที่แวดล้อมเขาไม่มีใครสนใจทำงานในแนวเดียวกันเขาเลย แต่ละคนต่างพากันไปรับงานวิจัยตามกระทรวง กรมกองต่างๆ และหากในคณะเศรษฐศาสตร์นั้นไม่มีนักศึกษาในโครงการปริญญาเอกให้เขาสอนด้วยแล้ว เขาคนนั้นควรจะสั่งสมทุนมนุษย์อย่างไรดีล่ะครับ ทักษะด้านไหนที่เขาควรพัฒนา
หากเขาคนนั้นจะดำรงความเป็นเลิศทางวิชาการได้ ก็คงต้องเริ่มต้นจากการหามหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เปิดรับอาจารย์ใหม่ เท่านั้นแหละครับ
ผมเห็นว่าการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนั้นเป็นเพียงหนึ่งในดัชนีชี้วัดระดับความเข้มแข็งของชุมชนวิชาการ ที่บ่งชี้ชัดเจนมากว่า วงการวิชาการของเราอ่อนล้าเพียงใด ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคนไทยตีพิมพ์งานลงในวารสารชั้นนำมาร่วมห้าสิบกว่าปีนั้นอาจเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจ แต่ผมคิดว่าายังไม่เท่าเรื่องของความรู้นักเศรษฐศาสตร์ไทย เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเอง
ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้เล่า..ทั้งๆที่นักวิชาการเราหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำวิจัยกันโครมคราม .. เรามีทั้งสภาพัฒน์ แบงค์ชาติ และ TDRI ทำไม..
ผมมองว่างานวิจัยที่คนไทยทำส่วนใหญ่มันไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่เลย เราไม่ต้องดูอื่นไกลเลยครับ เพียงแค่หยิบูหนังสือตำราเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีของฝรั่งสักเล่มขึ้นมาพลิกดู เราจะสังเกตุเห็นพวก Box ที่แทรกอยู่ในบทเรียนต่างๆ ซึ่ง Box พวกนี้ถูกใส่ไว้เพื่อเสริมเนื้อหาเชิงทฤษฎีด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง เนื้อหาที่อยู่ใน Box ส่วนใหญ่ เป็นผลพวงจากงานวิจัยที่ได้ศึกษามาแล้วในอดีต ที่มีข้อสรุปซึ่งอาจจะสนับสนุน หรือขัดแย้งกับทฤษฎีนั้นๆก็ได้้ ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อให้ผู้อ่านเชื่อมโยงคำอธิบายทางทฤษฎีกับข้อค้นพบในทางปฏิบัติได้อย่างกลมกลืน
ผมว่านี่คือกระบวนการของการสร้างความรู้ทางวิชาการที่ประเทศไทยขาด เพราะหนึ่ง เราไม่มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับงานสอนหรือการถ่ายทอดความรู้เศรษฐศาสตร์ไทย สอง เราไม่มีการตรวจสอบงานวิจัยของเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน สามเมื่อไม่มีการตรวจสอบกัน เราก็ไม่ทราบว่าสถานะความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหนแล้ว มีงานศึกษาใดที่เรายึดถือไว้อ้างอิงต่อได้บ้าง ซึ่งเมื่อไม่มีการทราบสถานะความรู้ หรือพรมแดนความรู้ สุดท้ายแล้วการจะสร้างความรู้ใหม่ต่อยอด หรือการค้นหาข้อเท็จจริงมาหักล้าง จึงไม่เกิดตามมา
ถึงตรงนี้กลับไปอ่านตรงที่ผมเขียนว่าหนึ่งอีกที แล้วช่วยกันหาคำตอบหน่อยครับว่าทำไม มันไม่มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์
(หมายเหตุ ที่ผมกล่าวว่าไม่มีการตรวจสอบงานวิจัยของเพื่อนนักวิชาการด้วยกันเองนั้น ไม่ได้หมายถึงการที่นักวิชาการถูกแต่งตั้งโดยเจ้าของเงินทุนวิจัย เพื่อตรวจรับงานวิจัยนั้นๆ แต่ผมหมายถึงวัฒนธรรมการนำเสนองานวิจัยในเวทีสัมมนาวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น seminar รายสัปดาห์ หรือรายเดือนที่เหล่าคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาฟัง และแสดงข้อคิดเห็นวิจารณ์งานศึกษานั้น ตรงนี้ต้องขอเลือก เวทีสัมมนารายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะเป็นการนำเสนองานวิจัยทางวิชาการจริงๆ ที่มีนักวิชาการแนวหน้าในสาขาเศรษฐศาสตร์มหภาค และการเงิน มาร่วมอยู่เป็นประจำ)
ผมอาจเขียนบทความนี้เหมือนกับแก้ตัวกับคุณปริเยศในสิ่งที่ผมยังทำไม่ได้ โดยพยายามปัดความผิดในข้อหา "ไม่เป็นมืออาชีพ" ให้กับระบบหรือสถาบัน แต่ความจริงที่ผมหลีกหนีไม่พ้นก็คือ ผมเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่จบปริญญาเอกมาแล้วยังไม่มีงานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นนำของโลก ผมไม่ได้โมโหคุณปริเยศนะครับ แม้ว่าตอนที่อ่านข้อเขียนของคุณใน Blog ของคุณ B.F. จะรู้สึกเหมือนโดนฝ่ามือพิฆาตฟาดเข้าที่กลางอกบ้างก็ตาม
ผมชอบทัศนคติของคนรุ่นใหม่ทั้งคุณปริเยศ และคุณปิ่น ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ด้วยเจตนาที่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ผมอยากจะบอกว่า ..ผมก็อยากเห็นเหมือนกัน และผมก็เป็นคนที่ ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงด้วย...ไม่เชื่อถามคุณปิ่นดูก็ได้
3 Comments:
บทความสามตอนแรกของผม ก็พยายามอธิบายด้วยปัจจัยเชิงสถาบันนะครับ ตั้งแต่ สภาพสังคม บรรยากาศวิชาการ โครงสร้างผลตอบแทนที่บิดเบี้ยว ไปจนถึง norm ขนบ วัฒนธรรม กระทั่งโลกส่วนตัวของแต่ละคน
บทความที่สี่อาจพูดถึงน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เพราะคิดว่าสามตอนแรกพูดไปเยอะแล้ว
เขียนภายใต้ข้อสมมติว่า ผู้อ่านอ่านเรียงกันสี่ภาคน่ะครับ
คุณปริเยศเขาขอเอาตอนนี้ไปโพสต์ที่ blog เขานะครับ ข้าม blog ลอด blog กันสนุกดี คนอ่านความเห็นต่างๆคงงง
เนื้อความจาก blog คุณปริเยศ
สวัสดีครับอาจารย์ Corgiman
ผมขออนุญาตนำข้อเขียนของอาจารย์ไปลงในบล็อกส่วนตัวของผมนะครับ
ขอให้อานิสงส์ที่อาจารย์อนุญาตให้ผมนำข้อความไปลงส่งผลให้ทีมหงส์แดงของอาจารย์ไปสู่จุดหมายสูงสุดในฤดูกาลนี้และตีตั๋วเล่นแชมป์เปี้ยนลีกฤดูกาล2005/2006 ด้วยเทอญ
หมายเหตุ
เนื่องด้วยผมขออนุญาตอาจารย์ในบล็อกส่วนตัวของอาจารย์ไม่ได้เลยถือวิสาสะนำมาลงในนี้แทน
ตอบคุณ Amore
ถ้าหมายถึงการเสวนาเชิงวิชาการระหว่างคณาจารย์ ก็อาจเกิดขึ้นบ้างระหว่างคนรุ่นใหม่ หรือพวกที่มีไฟอยากเรียนต่อ ส่วนพวกอาจารย์ที่จบมาแล้ว คงไม่มีแรงจูงใจเท่าใดมังครับ ที่จะมาเสียเวลาค้นและอ่านเปเปอร์ยากๆ ทำไปแล้วก็ไม่ได้อะไรที่เป็นตัวเงินตอบแทนเท่าไหร่ คุณลองนึกดูสิครับว่าตลอดช่วงเวลาที่คุณใช้ในถิ่นท่าพระจันทร์ มีอาจารย์คนไหนบ้างที่สนใจเรื่องแบบนี้ เทียบกันแล้วพวกนักศึกษาปริญญาโทจะใฝ่รู้มากกว่าอาจารย์ด้วยซ้ำ
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home