Tuesday, April 12, 2005

Creative Destruction กับงานศิลป์ที่จากหายไป

ช่วงนี้ผมรู้สึกถึงความชราภาพของตนเองบ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่สังขารที่ถดถอยเท่านั้น แต่ผมชักเริ่มหวนนึกย้อนถึงอดีตในวันวานบ่อยครั้งขึ้น ..ความคิดและจิตใจมันชักชวนกันกลับไปหาโลกและสภาพความเป็นอยู่ที่สวยงามในวัยเยาว์ ..

ไม่รู้เป็นเพราะความถวิลหาบางสิ่งจากกาลก่อนที่อยู่ใต้จิตสำนึกหรือเปล่า ที่มักฉุดผมเข้าสู่ห้วงคำนึงถึงอดีต และภาพของหลายสิ่งหลายอย่างที่ขาดหายไปในปัจจุบัน

การสัญจรในเมืองกรุงทุกเช้าเย็น ก็มีส่วนกระตุ้นต่อมคนึงหา ของผมเหมือนกันนะครับ

มิใช่เพราะเจ้าสะพานลอย รถลอยฟ้าใต้ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่แข่งกันแยงท้องฟ้ากรุงเทพฯหรอกครับ

หากแต่เป็นพวกป้ายบิลบอร์ดขนาดยักษ์ที่ตั้งสลอน มองเห็นเด่นแต่ไกลนั่นต่างหาก..

ขนาดของป้ายอาจใหญ่กว่าสมัยก่อน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดึงความสนใจของผมได้ เท่ากับภาพที่ปรากฏบนผืนผ้า

ผมเพิ่งมาสังเกตุว่า เมื่อสมัยก่อนป้ายโฆษณาใหญ่ๆแบบนี้จะเป็นแผ่นสำหรับโฆษณาหนังที่จะเข้าฉาย หรือกำลังฉายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือหนังเทศก็ตาม

ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่ผมไม่ค่อยได้เห็นพวกภาพยนตร์ทั้งหลายลงโฆษณาบนป้ายขนาดยักษ์เท่าไหร่ (แต่กลับไปโผล่ตามข้างรถเมล์ หรือซุุ้มนั่งรอรถเมล์ มากกว่า) ผมกลับเห็นโฆษณาพวกมือถือ หรือเครือข่ายบริการ แผ่กางเกลื่อนเมืองไปหมด

ที่ซำ้ร้ายก็คือ ศิลปะที่ดำรงอยู่คู่กับป้ายบิลบอร์ดสมัยก่อน กลับหายหน้าหายตาไปด้วย

สมัยก่อนนั้น ภาพที่ปรากฏบนบิลบอร์ดนั้นเป็นฝีมือวาดและลงสีของช่างฝีมือที่มีลมหายใจเหมือนเราๆท่านๆ แต่ในยุคสมัยนี้ ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้ามาก งานฝีมือเหล่านั้นได้ถูกแทนที่ด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรรูปทรงเหลี่ยมๆ มนๆ ไร้แขน ไร้จิตวิญญาณ หากแต่กลับสามารถถ่ายทอดภาพถ่ายสีสันสวยสด ลงบนผืนภาพขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

บังเอิญที่ดวงใจผมนั้นพิศมัยภาพวาดมากกว่าภาพถ่าย ... เลยทำให้ผมมีอาการอาลัยอาวรณ์กับภาพเขียนสีโปสเตอร์ขนาดยักษ์ที่เคยตั้งตระหง่านเหนือนครบางกอกพอสมควร

การจากไปของภาพสีโปสเตอร์เหล่านั้นทำให้ผมคิดต่อไปว่า แล้วช่างฝีมือเหล่านั้นเล่า .. จะไปทำมาหากินอะไรในตอนนี้

เพราะทักษะของพวกเขาที่เคยมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ สำหรับเจ้าของหนังหรือเจ้าของโรงภาพยนตร์ มาบัดนี้มูลค่าของทักษะเหล่านั้นน่าจะกลายเป็นศูนย์ไปหมดแล้ว..

ความคิดของผมเลยเถิดไปถึง งานศิลปะอีกประเภท ที่มีชะตากรรมไม่ต่างกันเท่าใดนัก

นั่นก็คือ ผลงานภาพเขียนที่เคยปรากฎบนปกแผ่นเสียงในอดีต ...

ในอดีตนั้น มิตรรักนักเพลงที่นิยมเพลงฝรั่ง จะหาความสุขได้จากการฟังแผ่นเสียง...แผ่นครั่งสีดำรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณพิซซ่าถาดใหญ่

และซองใส่แผ่นเสียงนั้นก็มีขนาดพอๆกับกล่องกระดาษแข็งที่บรรจุพิซซ่านั้นไว้ภายในเช่นกัน

วงสไตล์ฮาร์ดร็อค(หรือที่ยุคหนึ่งถูกเรียกว่า เฮฟวี่เมทัล)บางวงจะเอาใจใส่กับปกแผ่นมาก โดยจะสอดแทรกตัวตนของวงลงบนภาพวาดสี ที่ปรากฎบนปกแผ่นเสียงเสมอ อาทิเช่น วง Rainbow จะมีภาพมือขนาดยักษ์ยื่นมาจับสายรุ้งที่ทอดตัวเป็นเส้นโค้ง ท่ามกลางหมู่เมฆ Molly Hatchet ก็เป็นอีกวงหนึ่งที่ปกอัลบั้มจะมีภาพนักรบร่างกายกำยำ ผมยาว มีหนวดเครา ที่มาพร้อมกับขวานขนาดยักษ์ในมือ วงในแนวโปรเกรสซีพร๊อค หลายวงก็มีปกอัลบั้มที่ติดตาผมอยู่ถึงทุกวันนี้ อาทิเช่น Kansas เป็นต้น (ในสมัยก่อน หน้าตาของสมาชิกในวงมักไม่ค่อยปรากฎบนปกอัลบั้มเท่าไหร่หรอกครับ แต่ที่สุดยอดคือ Pink Floyd เพราะบางคอนเสิร์ท ผู้ชมจะไม่ได้เห็นหน้าคนเล่นด้วยซ้ำ! ... เพราะแกเล่นปล่อยแสงสีออกมาสะกดคนดู ดั่งจะปิดตาคนดูไว้ ให้ใช้เพียงหูฟังเท่านั้น)

ความอลังการของภาพเขียนเหล่านี้ลดขนาดลงไปมาก เมื่อสื่อการฟังในเชิงพาณิชย์เปลี่ยนจากแผ่นเสียงมาเป็นแผ่นซีดี ขนาดของบรรจุภัณฑ์ที่เล็กลงทำให้อารมณ์ร่วมที่ได้จากการดูภาพปก หายไปเยอะเลย ภาพที่เคยได้ขนาดพอจะใช้ประดับผนังห้องได้ กลับหดเล็กลงเหลือเพียงขนาดปฏิทินตั้งโต๊ะขนาดย่อม

นวัตกรรมทางด้านเครื่องเสียงที่ก่อกำเนิดสื่อการบันทึกเสียงที่มีความคงทน และนำความคมชัดของเสียงสู่ผู้ฟัง กลับมีผลข้างเคียงทำให้งานศิลปะบางแขนงเสียอรรถรสในการเสพไป

แม้วูบหนึ่งนั้นผมจะบอกกับตัวเองว่า นี่คือกระบวนการที่สิ่งประดิษฐ์ใหม่เข้ามาแทนที่ของเดิม ที่ล้าสมัยไป หรือด้อยประสิทธิภาพกว่า ก็ตาม ..

แม้ว่าจะพยายามอธิบายให้ตัวเองฟังว่า ของใหม่ที่มาแทนที่นั้นเป็นผลจากการสร้างสรร ของเหล่านักประดิษฐ์ ผู้ไม่เคยหยุดนิ่ง หรือพึงพอใจกับความสำเร็จจากการคิดค้นในอดีต
..มนุษย์ที่พยายามพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้นไป จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมาแทนที่ หรืออาจเรียกได้ว่า "ทำลาย" ของที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก่อนหน้า..

กระบวนการพัฒนาที่เรียกว่า Creative Destruction นึ้จึงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราอยากเห็นการพัฒนา และการยกระดับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต

หากแต่กระบวนการสร้างสรร และทำลายที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะระลึกถึง ความงามของงานศิลปะในอดีต ที่ได้จากหายไปแล้วอย่างไม่หวนคืน เพราะในความรู้สึกของผมนั้น สิ่งที่ถูกทำลายหรือแทนที่นั้น ดูจะมีลักษณะที่สะท้อนถึงความสร้างสรร หรือ Creative มากยิ่งกว่าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเหล่านั้นเสียอีก

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home