หนึ่งรอบอาทิตย์ของผม
เจ็ดวันผ่านไปเหมือนโกหกโชคดีที่ผมไม่เคยสัญญากับใคร (แม้แต่กับตัวเอง) ว่าจะเขียนไดอารี่ทุกวัน..
แม้ว่าจะอยากเขียนให้ได้ทุกวัน และเขียนแล้วอ่านเพลินเหมือนเพื่อนรุ่นศิษย์ของผม (นายป้อง ปีศาจแดง) แต่ยังไงๆก็คงทำไม่ได้
ปัญหาของผมแท้ที่จริงแล้วก็คือปัญหาเศรษฐศาสตร์ที่ผมมักยกเป็นตัวอย่างประกอบการสอนล่ะครับ...
..ปัญหาการจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผมนั้นสอนนักศึกษาอย่างเชียวชาญ ถึงวิธีการตัดสินใจของบุคคล(ที่มีเหตุมีผลเต็มเปี่ยม) ผมแทบไม่ต้องเตรียมการสอนในเรื่องนี้แล้ว เพราะมันติดอยู่ในจิตใต้สำนึกของผมแล้ว ว่า...ตามหลักเศรษฐศาสตร์(กระแสหลัก ?) แล้วนั้น คนเราควรเลือกจัดสรรเวลาอย่างไร
แต่เมื่อถึงคราวที่ตัวเองต้องลงมือใช้หลักการนั้นกับชีวิตจริง... ผมกลับเอาตัวไม่รอด..
เหตุผลหรือครับ..ก็สิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่ผมอยากทำในหนึ่งวันน่ะ มันใช้เวลารวมกันทั้งหมดแล้วเกินยี่สิบสี่ชั่วโมงสิครับ
อย่างในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ..ผมมีภาระกิจที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้วคือ เตรียมการสอน(เนื้อหาประมาณหลักเศรษฐ ป.ตรี) สำหรับวันเสาร์
แต่วันเสาร์ที่ผ่านมานั้น ผมมีการเพิ่มคาบการสอนเพื่อชดเชยคาบที่ผมขาดไป (เป็นความบกพร่องอย่างสุจริตโดยแท้ ที่ผมจำเวลาสอนผิด และทำให้ต้องงดสอนคลาสแรกไปอย่างช่วยไม่ได้) ทำให้ผมต้องเตรียมการสอนมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ผมยังต้องตรวจข้อสอบอีกสองวิชา เพื่อให้ส่งเกรดทันกำหนด (อืม...ที่จริงแล้วผมก็ควรตรวจข้อสอบพวกนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้วนี่นา ไม่รู้ทำไมถึงมีนิสัยชอบส่งงานตรงเส้นตายพอดี) รวมจำนวนข้อสอบที่ต้องอ่านในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา น่าจะอยุ่ในราว 160 ชุดได้
เวลาที่จัดสรรให้กับการทำงานยังไม่หมดนะครับ เพราะผมมีงานวิจัยที่ต้องเขียนส่งหนึ่งงาน โชคดีที่เมื่อปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ต้องส่งเพียงรายงานย่อยเท่านั้น จึงนั่งปั่นให้เสร็จก่อนเข้าประชุม (อีกแล้ว) แล้วก็งานใหม่อีกงานที่ต้องนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยให้กับคณะกรรมการในกระทรวง ซึ่งมีเวลาอ่านวรรณกรรมและประมวลออกมาเป็น แนวทางการทำวิจัยเสนอ เพียงสอง-สามวันเท่านั้น (และเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการ ผมก็ลงทุนทำ presentation บนเครื่อง Mac ของผมด้วย)
ผมสนุกกับงานที่ผมทำ ไม่ว่าจะเป็นงานสอน งานวิจัย หรืองานครอบครัว แต่บางอย่างในตัวผมมันก็เรียกร้องเวลาส่วนตัวอยู่เหมือนกัน ผมยังตัองการเวลาที่ผมปลีกตัวจากครอบครัว จากหน้าที่การงาน ...ผมพบว่า..ตอนนี้ ..ผมต้องการมีชีวิตอีกด้านซึ่งลอยเหนือโลกความเป็นจริงของผม ..ชีวิตที่ผมปรารถนา..แต่เป็นไม่ได้..ทำไม่ได้แล้ว..ในโลกความเป็นจริง
ซึ่งผมก็ได้พบกับโลกนั้นแล้ว...ขอบคุณเทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์
อันที่จริง เพื่อนๆของผมหลายคน (โดยเฉพาะรุ่นลูกศิษย์) ต่างก็ได้เคยสัมผัสกับโลกเหนือความเป็นจริงนี้กันมาบ้างแล้ว บางคนถึงกับยอมอดนอนเพื่อแลกกับความสุข (และความสะใจ) เพียงชั่วครู่ชั่วยาม (ขอโทษที่ต้องเอ่ยนาม ... เค้าชื่อภาวิณ ครับ)
ผมกำลังพูดถึง Football Manager 2005 ครับ มันช่วยผมได้เสมอ เวลาที่หงส์แดงบู่ ผมระบายความหงุดหงิดด้วยการคุมทีมมันซะเองเลย และแน่นอน ผมทำได้ดีกว่า เบนิเตซ อุลลิเย่ร์ และอีแวนส์ (หรือแม้แต่ อุลลิเย่ร์กับอีแวนส์ รวมกัน)
ตอนนี้ผมเล่นถึงเดือนมกราคมแล้ว ผ่านมายี่สิบนัด หงส์แดงยังไม่แพ้เลย และเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก โดยนำผีแดงอยู่สิบสองแต้ม ล่าสุดเพิ่งบุกไปเผาโอลด์ แทรฟฟอร์ดมาด้วยสกอร์ สองศูนย์ จากการโหม่งของเจมี่ คาราเกอร์ (จากลูกเตะมุม) กับลูกยิงในช่วงท้ายเกมของบารอส แน่นอน ผมมีความสุขมาก Board of Directors ก็เช่นกัน
(หมายเหตุ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากคำแนะนำของหนูหนึ่ง ที่ชี้ช่องให้ผมไปซื้อ เครสโป ที่ถูกเชลซี โละทิ้งในราคาย่อมเยา (แถมผมซื้อแบบเงินผ่อนด้วย))
ความสำเร็จของหงส์แดงใน FM2005 คือความสุขในโลกเหนือความเป็นจริง ที่อาจเป็นเพียงสารเสพติดหรือสารกระตุ้น ที่ทำให้ผมต้องการอยู่ในโลกเหนือความเป็นจริงนานๆ มันไม่ดีกับสุขภาพคนแก่อย่างผมแน่ เพราะผมมักได้เล่นเกมนี้ตอนที่ลูกหลับไปแล้ว และผมมักเผลอเล่นมันจนดึกดื่น
เมื่อความรู้สึกไม่อิ่มในการเล่นเริ่มก่อตัวขึ้น ความรู้สึกว่าเวลาในหนึ่งวันนั้นไม่เพียงพอ จึงเกิดตามมาในทันที
ผมคิดว่า หากสิ่งที่เราเสพหรือกระทำมันให้อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายที่ลดลงตามจำนวนการเสพหรือการกระทำแล้ว (Basic Assumption in Economics: the law of diminishing returns) การจัดสรรเวลาของผมคงง่ายยิ่งขึ้น แต่ถ้าเมื่อใดที่เราริเสพหรือกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายที่ไม่ลดลง(หรือกลับเพิ่มขึ้นได้)นั้น การจัดสรรเวลาตามหลักการที่ผมคุ้นเคยคงใช้ไม่ได้แน่เลย
ข้อสังเกตุ หลายคนที่หยุดเล่น CM มักจะหยุดหรือเลิกในลักษณะ Cold Turkey เหมือนกับเวลาคนที่เลิกเสพยา เลิกเสพในทันที มิใช่เลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป
2 Comments:
วิจารณ์เมอร์ซี่ไซด์ดาร์บี้หน่อยครับ
แฟนๆ เรียกร้องอยากอ่าน
ฝากบล็อคของผีหนึ่ง hugo
http://onelifediary.blogspot.com/
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home