Monday, May 02, 2005

Krugman กับวิกฤติแห่งเอเซีย

Paul Krugman is coming to town!

หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายหนึ่งที่ลืมตาอ้าปากได้ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสี่ปีก่อนโน่น ได้ดึงนักวิชาการเคราดกผู้นี้มาแสดงวิสัยทัศน์ให้กับนักธุรกิจ ผู้บริหาร และคนในวงการการเงิน ด้วยสนนราคาค่าเข้าฟังที่แพงกว่าบัตรคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลกที่หลายค่ายนำเข้ามาแสดงในบ้านเมืองเรานับสิบเท่า

ชื่อเสียงของครุกแมนขายได้ในภูมิภาคนี้เพราะเหตุที่เขาเคยเขียนบทความแหกกระแสเรื่อง The Myth of Asian's Miracle ในวารสาร Foreign Affairs เมื่อปี 1994

ในบทความนั้นครุกแมนได้เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจเอเซียตะวันออกกับเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในอดีต

กาลครั้งหนึ่ง...กูรูเศรษฐกิจในโลกตะวันตกต่างเคยพากันตื่นตระหนกกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพโซเวียต และต่างเชื่อกันว่าอีกไม่นานเท่าไหร่ เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็จะสามารถแซงเศรษฐกิจสหรัฐฯไปได้ ทว่าเหตุการณ์กลับมิได้เป็นไปดังที่เหล่ากูรูเศรษฐกิจพยากรณ์ไว้ ประเทศสหรัฐฯยังคงรักษาความเป็นหนึ่งในด้านเศรษฐกิจไว้ได้อย่างมั่นคง ในขณะที่สหภาพโซเวียตกลับแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และมิหนำซ้ำความเป็นชาติมหาอำนาจยังถูกลดระดับลงไปกว่ายุคสมัยอดีต

ครุกแมนโยงปรากฎการณ์นี้เข้ากับภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่างขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างเฉียบพลัน และรักษาระดับอัตราการขยายตัวสูงไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนถูกเรียกขานปรากฎการณ์นี้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งเอเซีย

เนื้อความเชิงเปรียบเทียบของพอล ครุกแมนนี้มิใช่แค่การเชื่อมโยงสองปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีใครริจะคิดนำมาประกอบการวิเคราะห์ แต่เขายังสร้างการอนุมานต่อไปด้วยว่า เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเซียนี้จะประสบชะตากรรมเดียวกันกับเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

เพียงบทความนี้บทความเดียว พอล ครุกแมนได้ทิ้งบอมบ์ลงกลางงานเลี้ยงฉลองที่ทุกๆฝ่ายกำลังชื่นมื่นกับความสำเร็จของประเทศในภูมิภาคนี้ และเขาได้สร้างความโกรธแค้นเกลียดชังให้กับหลายๆคนในภาคพื้นทวีปนี้ด้วยเช่นกัน


แต่เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจแห่งเอเซียอุบัติขึ้นในปี 1997 ทุกคนกลับหันมามองพอล ครุกแมนใหม่ ด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความนับถือคารวะ ในฐานะกูรูตัวจริง ที่สามารถหยั่งรู้ได้ถึงหายนะทางเศรษฐกิจล่วงหน้าถึงสามปี

สิ่งที่น่าประทับใจในงานเขียนชิ้นนี้ของครุกแมนก็คือ การที่เขาวิพากษ์ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามกรอบการวิเคราะห์ทางทฤษฎีเศรษฐศาตร์ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

กรอบทฤษฎีที่ครุกแมนใช้วิเคราะห์นั้นเรียกว่า Growth Accounting ซึ่งเป็นการจำแนกแยกส่วนเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิด การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราการเพิ่มของผลผลิตต่อหัว เหตุปัจจัยที่ว่านี้มีด้วยกันสองประการ คือ หนึ่งเกิดจากการที่ประเทศมีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆในอัตราที่สูงขึ้น และสองเกิดจากการที่ประเทศนั้นมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

ครุกแมนชี้ให้เห็นว่าทั้งสหภาพโซเวียต และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ต่างมีการลงทุนในระดับสูง อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวสูง ซึ่งการลงทุนนี้ก่อให้เกิดการสั่งสมปัจจัยทุน(ต่อแรงงาน)ในอัตราเร่งด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจทั้งสองเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ครุกแมนชี้ต่อไปว่าการสั่งสมทุน (หรือการเพิ่มการใช้ปัจจัยการผลิตอื่นๆ)เพื่อขยายกำลังการผลิตนี้ไม่สามารถทำได้ตลอดไป เพราะเมื่อขอบเขตของการขยายตัวถึงขีดจำกัดแล้ว(เพราะว่าไม่อาจรีดเงินออมมาไฟแนนซ์การลงทุนได้อีก หรือไม่สามารถผลักดันแรงงานใหม่ๆเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก) การขยายตัวของผลผลิตในอัตราสูงย่อมไม่ปรากฎให้เห็นอีกต่อไป

ครุกแมนนำงานศึกษาของ Alwyn Young มาเสริมข้อสรุปของเขา ด้วยข้อค้นพบของ Young เกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต(เหตุปัจจัยที่สอง)ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่โตในอัตราที่ไม่ต่างกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆของโลก ข้อค้นพบนี้ตอกย้ำว่าสิ่งที่เรียกกันว่า Asian's Miracle นั้นแท้ที่จริง มิได้มีอะไรลึกลับแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างง่ายๆเท่านั้น เมื่อระบบเศรษฐกิจมีการเพิ่มปัจจัยการผลิตในอัตราเร่ง ย่อมก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในอัตราเร่งด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในระยะยาวแล้ว เราอย่าได้คาดหวังเลยว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะโตในอัตราร้อยละสิบต่อปีตลอดไป ในระยะยาวนั้น เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะไม่โตเร็วไปกว่าเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐฯอีกด้วย

นี่คือเนื้อหาสำคัญของบทความที่นำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างข้อสรุปได้อย่างงดงาม เหตุผลและข้อโต้แย้งถูกนำเสนอด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เนียน เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่คิดจะวิจารณ์ภาวะเศรษฐกิจ

แต่หากพิจารณาเนื้อความกันดีๆแล้ว ครุกแมนไม่เคยพยากรณ์ถึงวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และประเทศในภูมิภาคนี้ที่ครุกแมนกล่าวถึงอย่าง สิงคโปร์ ก็มิได้ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 1997 ครุกแมนเพียงพูดถึงการชะลอตัวของผลผลิตต่อหัวที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวเท่านั้น (ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างทราบกันดีว่าจุดเวลาที่ทฤษฎีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเรียกว่า ระยะยาวนั้น มันอาจยาวนานเกินกว่าช่วงอายุคนๆหนึ่ง)

ครุกแมนใช้ทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาวิเคราะห์โดยในตัวทฤษฎีนี้พิจารณาเพียงตัวแปรทางด้านการผลิตเพียงซีกเดียว มิได้มีตัวแปรทางการเงิน หรือกล่าวถึงระบบธนาคาร สถาบันการเงินแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่มีการพูดถึงระบบอัตราแลกเปลี่ยน หรือแง่มุมของปัญหาในมิติของการเงินระหว่างประเทศแม้แต่น้อย

ครุกแมนได้เขียนบทความภายหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 โดยพยายามอธิบายว่าวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เขาเรียกแบบจำลองที่ "พอจะ" อธิบายวิกฤติครั้งนี้ได้ว่าเป็น แบบจำลองในเจเนอเรชั่นที่สาม (ในราวปี 1998) ต่อจากแบบจำลอง Balance of Payment Crisis ของเขา และแบบจำลองวิกฤติแนว Self-Fulfilling ของ Maurice Obstfeld

แบบจำลองในรุ่นที่สามนี้ได้ให้ความสำคัญกับภาคการเงิน หรือระบบธนาคาร และผูกเรื่องเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจด้วยพฤติกรรมที่ฉกฉวยประโยชน์จากความไม่สมมาตรทางด้านข้อมูลสารสนเทศ หรือปัญหาที่เรียกว่า moral hazard และ adverse selection เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยปรากฎมาก่อนในบทความ Asian's Miracle ของครุกแมนแม้แต่น้อย และเหตุที่ได้รับผนวกเข้าในแบบจำลองวิกฤติรุ่นที่สามก็เพราะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ปี 1997 นี้มีทั้งด้านของการสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ (ตามลักษณะของ Balance of Payment Crisis ทั่วๆไปที่มาจากการโจมตีค่าเงิน) และด้านของความเสียหายในระบบการเงิน (Financial Crisis) อันเป็นทวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งพบในกลุ่มประเทศMIT (Malaysia, Indonesia และ Thailand) ( จริงๆต้องรวมเอาเกาหลีใต้เข้าไปด้วย แต่เมื่อรวมไปแล้ว ชื่อย่อที่ได้คงไม่ใช่ MIT อีกต่อไป แต่กลับเป็น KMIT แทน!)

เรียกได้ว่าครุกแมนมาพูดถึงที่มาของวิกฤติก็เมื่อภายหลังจากเกิดวิกฤติไปแล้ว มิใช่ว่าเขาพยากรณ์วิกฤติได้ล่วงหน้าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ครุกแมนก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวดว่าตนเองเป็นผู้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เขาเพียงเขียนตามที่เขาคิด และตามที่เขาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ..อย่างตรงไปตรงมา

..หากแต่เป็นฝ่ายสื่อเองต่างหากที่พากันยกย่องและประเคนตำแหน่งผู้หยั่งรู้ให้กับครุกแมน..และพลอยทำให้เขาอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับงานเผยแพร่เศรษฐศาสตร์สู่มวลชน แทนที่จะมุ่งพัฒนาค้นคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆเหมือนช่วงที่เขายังไม่เป็นที่รู้จักในภูมิภาคนี้

หลายคนคงฝากความหวังไว้กับปาฐกถาของครุกแมน ว่าจะสามารถฉายภาพเศรษฐกิจไทย และภูมิภาคเอเชียให้เห็นกันล่วงหน้าได้ ทั้งๆที่ครุกแมนเองมิได้เป็นผู้พยากรณ์วิกฤติเศรษฐกิจล่วงหน้า.. ไม่รู้ว่าจะโทษสื่อของเราดีหรือไม่ ที่ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในบทความของครุกแมนอย่างแท้จริง หรือว่าตอ้งการเพียงเพื่อปั่นราคาครุกแมนให้สมกับค่าบัตรเข้าฟังกันแน่

4 Comments:

At 9:59 AM , Blogger Etat de droit said...

ถ้าผมไม่ได้อ่านบล็อกของอาจารย์ Corgiman วันนี้ผมก็ยังเชื่อตามที่เค้าบอกกันตลอดนะครับว่า พอล ครุกแมนเป็นดังศาสดาพยากรณ์หรือพ่อหมอที่ออกมาทำนายทายทักวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี ๒๕๔๐ จริงๆ

ขอบคุณครับที่ทำให้ผมหูตาสว่างขึ้น

แต่แปลกมั้ยครับ โลกเราทุกวันนี้ คนที่ได้รับการยกย่องด้วยสมญานามต่างๆ ตัวเค้าเองกลับคิดว่ามาตั้งให้กูทำไม

แต่คืนนี้ หวังว่าคนที่สื่อยกให้เป็น ตูราม ๒ ก็ดี โบบัน ๒ ก็ดี จะโชว์ฟอร์มดับสิงห์พาหงส์ไปอิสตันบูลได้นะครับ

 
At 11:27 AM , Blogger The Corgiman said...

comment ของคุณ etat de droit ทำเอาผมยิ้มไม่หุบเลยนะครับ

ว่าแต่ว่าถ้าหงส์เข้าชิงละก็ คุณจะไปบุกอิสตันบูลรึเปล่าครับ

 
At 11:46 AM , Blogger The Corgiman said...

คุณ amore vincit ถามคำถามตอบยากซะแล้ว

เราก็ทราบกันดีว่านักวิชาการเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสกำหนดหัวข้อวิจัยที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาการเท่าไหร่ ทุกอย่างแล้วแต่เจ้ากระทรวงผู้ว่าจ้างจะกำหนด

ว่าแต่ว่าบทความของสภาพัฒน์เรื่อง growth นั้นใครเขียนล่ะครับ อยากเห็นเหมือนกัน ส่ง link มาให้หน่อยสิครับ

 
At 11:19 PM , Anonymous Anonymous said...

dqlgkgk utp gmhmn threesome lesbians

fzcpg!

cwbtw qzpdth sov oral sex videos

 

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home