Sunday, June 12, 2005

It Was Twenty Years Ago Today..: Part I

คืนวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี1994
บ็อบ เกลดอฟ ได้เห็นภาพประชาชนในประเทศเอธิโอเปียจำนวนมาก ที่ทยอยเสียชีวิตเพราะไม่มีอาหารจะกิน จากรายการข่าวของบีบีซี ประชาชนเหล่านี้ต้องอพยพจากหมู่บ้านที่เคยอยู่อาศัย เพราะเกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนในทางตอนเหนือของประเทศ และจำต้องอพยพลงมาทางพื้นที่ตรงกลางประเทศที่ทั้งแห้งแล้ง และกันดาร รัฐบาลเอธิโอเปียพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยการส่งอาหารและน้ำมาให้เป็นครั้งคราว ซึ่งแน่นอน..มันไม่เพียงพอที่จะประทังชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นได้…เกลดอฟถึงกับตะลึงในความโหดร้ายของภาวะความอดอยากที่เกิดขึ้นกับประชาชนเหล่านั้น

สถาพทางร่างกายของผู้คนในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ แตกต่างจากสภาพ “มนุษย์ปุถุชน” ที่พวกเราคุ้นตากันโดยสิ้นเชิง รูปศรีษะของพวกเขากลมโต ย้อยไปด้านหลัง คล้ายกับภาพวาดมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของนักแต่งนิยาย Sci-fi รอบตาเว้าเข้าเป็นร่องลึก เน้นให้เห็นแววตาที่ไร้ประกายและหมดหวัง ร่างกายของพวกเขานั้นแทบจะไม่มีไขมันซ่อนอยู่ภายใต้ผิว ทำให้ผิวหนังนั้นแนบติดกับกระดูก จนทุกย่างก้าวของพวกเขาละม้ายกับโครงกระดูกที่เดินได้จริงๆ

ที่น่าสงสารที่สุดคือ เด็กและเด็กแรกเกิดในค่ายอพยพนี้ เมื่อไม่ได้รับทั้งอาหาร น้ำและยารักษาโรค ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการยังชีพ วิญญาณจึงพร้อมจะหลุดลอยจากร่างที่อ่อนเปลี้ยนี้ได้ทุกเมื่อ…
รายงานข่าวของบีบีซี ระบุว่า ในทุกๆยี่สิบนาที จะมีผู้คนเสียชีวิตหนึ่งคนเสมอ

บ็อบ เกลดอฟ นักร้องและนักแต่งเพลงของวง The Boomtown Rats อึ้งไปกับภาพที่ปรากฎบนจอทีวี ความหายนะที่เกิดกับประชาชนจำนวนมากในอาฟริกาทำให้เขาได้คิดทบทวนถึงตัวเขา และสังคมรอบข้าง สังคมที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เพียบพร้อมด้วยปัจจัยสี่ และสารพันสิ่งของฟุ่มเฟือยเกินพอ ความอดอยากแร้นแค้นไม่ใช่ปัญหาในสังคมนี้ แต่กลับเป็นโรคอ้วน หรือการบริโภคจนเกินปริมาณอันควร …

ที่จริงแล้วนักร้องนักแต่งเพลงอย่างเขามีชีวิตที่ดี ร่ำรวยขึ้นมาได้ ก็เพราะสังคมรอบข้างเขานั่นแหละ ที่สั่งสมความมั่งคั่งไว้จนเกินพอ จึงมีเงินเหลือใช้ พอให้จับจ่ายซื้อหาความบันเทิงในรูปเสียงเพลงได้ …เกลดอฟ เป็นเพียงหนึ่งชีวิตที่โชคดี..ได้เกิดมาในสังคม ที่สงบสุข ไม่มีสงครามกลางเมือง ไม่เป็นลูกหนี้ของต่างชาติ และไม่ประสบปัญหาความอดอยากแร้นแค้น…

ด้วยบทบาทของนักดนตรีโดยทั่วไปแล้ว คุณค่าของเขาเหล่านั้นต่อสังคมคงมีเพียงการให้ความสุขด้วยเสียงเพลงแก่ผู้ฟัง และคงไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศโลกที่สาม…

แต่บ๊อบ เกลดอฟ has another idea เขาไม่ยอมให้ภาพอันน่าสลดทางทีวีนั้นผ่านไปโดยมิได้ลงมือทำอะไร ในเมื่อสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือดนตรี และเสียงเพลง เขาจึงวางโครงการระดมทุนด้วยการทำเพลงสำหรับช่วงเวลาคริสต์มาส โดยการนำผองเพื่อนศิลปินร่วมสมัย มาช่วยกันร้องและเล่นดนตรี ผลิตแผ่นเสียงออกขาย เพื่อนำรายได้นั้นส่งต่อให้กับประเทศเอธิโอเปีย

โครงการของเกลดอฟได้รับการตอบรับจาก มิดจ์ ยัวร์ จากวง Ultravox โดยทั้งคู่ได้ร่วมแต่งเพลง Do they know it’s Christmas ออกมา และช่วยกันทาบทามศิลปินรายอื่นๆมาเข้าร่วมบันทึกเสียงเพลงนี้….

พฤศจิกายน 1994

เหล่าศิลปินร่วม 40 ชีวิตได้พากันเดินเข้าห้องอัดเสียงในกรุงลอนดอน ไล่เรียงจากรุ่นใหญ่อย่าง พอล แมคคาร์ทนี่ย์ เดวิด โบวี่ เจมส์ เทเลอร์ ไปจนถึงพวกขวัญใจขาโจ๋ ในยุคนั้น อย่าง Wham Duran Duran U2 และ Spandau Ballet ภาพที่บันทึกการอัดเสียงแสดงให้เห็นว่า นักร้องนักดนตรีแต่ละรายนั้นมิได้พกพาอีโก้ติดตัวมาร่วมงานแม้แต่น้อย ภาพความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างศิลปินต่างวง ช่วยสร้างบรรยากาศงานการกุศลได้เป็นอย่างดี วงเฉพาะกิจวงนี้มีชื่อว่า Band Aid และเมื่อเพลง Do they know it’s Christmas ได้นำออกจำหน่ายในเดือนต่อมา มันก็วิ่งขึ้นอันดับหนึ่งในเวลารวดเร็ว และยังคงเป็นเพลงที่มียอดขายอันดับหนึ่งของประเทศอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้

เพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงกลอง ที่ตีเป็นจังหวะช้าๆ สะดุดๆ ต่อด้วยเสียงระฆังที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศวันคริสต์มาส
Paul Young ร้องเป็นคนแรก ด้วยน้ำเสียง Blue eyes soul ช้าๆ แต่บาดลึก บรรยายบรรยากาศคริสต์มาสในประเทศโลกที่หนึ่ง
“It’s Christmas time,
There’s no need to be afraid.
At Christmastime,
We let in light and we banish shade”
Boy George ต่อด้วยน้ำเสียงติดแหบ…
“And in our world of plenty
We can spread a smile of joy
Throw your arms around the world
At Christmas time..”
กีต้าร์ เบส และกลอง เริ่มเล่นอย่างกระหึ่ม พร้อมๆ กับเสียงเรียกร้องจาก George Michael
“But say a prayer,
Pray for the other ones”
และ Simon Lebon
“At Christmastime it’s hard but when you’re having fun”
ใช่สิ ช่วงเวลาคริสต์มาส ย่อมเป็นเวลาแห่งความสุข สนุกสนาน แต่มันก็เป็นโอกาสดี ที่เราจะได้สวดมนต์ เผื่อแผ่ ความปรารถนาดีให้กับผู้ที่กำลังอยุ่ในความลำบากด้วยเช่นกัน
“เพราะว่าในอีกซีกโลกหนึ่งนั้น เป็นโลกที่มีแต่ความหวาดกลัว ชวนสยอง…
น้ำที่ไหลรินในโลกซีกนั้นมีเพียงหยาดน้ำตาอันขมขื่น…
และ เสียงระฆังในช่วงคริสต์มาสสำหรับดินแดนนั้น ..มันกลับเป็นเสียงแช่ซ้องของความหายนะ..”

เนื้อเพลงที่เตือนใจปุถุชนในโลกที่เต็มไปด้วยความเกินพอ ถูกขับออกมาด้วยน้ำเสียงของ Bono แห่งวง U2
“Well tonight thank God it’s them …..instead of you”
……

“And there won’t be snow in Africa this Christmas time.
The greatest gift they’ll got this year is life.
Where nothing ever grow.
No rain or rivers flow.
Do they know it’s Christmas time at all?”….

บทเพลงนี้จบลงด้วยเสียงร้องอย่างพร้อมเพรียงของเหล่าศิลปิน Band Aid ทั้งหมด
“Feed the world, let them know it’s Christmas time again..”

สุดยอด…ผมขนลุกทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงเรียกร้อง นี้

Like a war cry to end famine, to fight poverty , and to make the world more equal.

พิสูจน์แล้ว..ว่า..พลังของเสียงดนตรีสามารถทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้…

ขอก้มหัวคารวะให้กับ ..ท่านเซอร์ บ็อบ เกลดอฟ อัศวินแห่งอาณาจักรบริเทน…และ..

Long Live Rock n’ Roll

(โปรดติดตาม ภาคสอง : มหกรรมคอนเสิร์ทสะท้านโลก Live Aid ที่นี่ เร็วๆนี้)

2 Comments:

At 9:59 AM , Blogger pin poramet said...

อ่านจบถึงกับต้องไปหาเพลงนี้ฟังทางเน็ต

 
At 12:33 AM , Blogger David Ginola said...

เพิ่งไปฟังเพลงมาเช่นกัน ขนลุกจริงๆครับ

อ้อ ไม่กี่วันมานี้ ดูเหมือนว่าความพยายามของหลายๆคน โดยเฉพาะ Bono (ผู้เป็นคู่หูของ Jeff Sachs) ในการผลักดันให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศแอฟริกาจะสำเร็จไปอีกขั้น เพราะประเทศกลุ่ม G8 เพิ่งจะตกลงปลดหนี้ 100% ให้กับประเทศแอฟริกา 18 ประเทศ

 

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home