การแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน และปัญหา Moral Hazard
จำได้ว่าใครคนหนึ่งเคยบอกกับคนไทยว่า ถ้าไม่เป็นหนี้ ก็คงจะร่ำรวยมั่งคั่งไม่ได้..เพราะผู้ประกอบกิจการธุรกิจที่ขาดเงินทุนของตัวเอง ย่อมต้องอาศัยเงินกู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องตกอยู่ในสภาพ "เป็นหนี้" ก่อน เพื่อที่จะได้รับเงินทุนมาดำเนินกิจการ เพื่อสร้่างรายได้ ..
ดังนั้นการเป็นหนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ต้องการสร้างฐานะ ยกระดับรายได้..
เมื่อวันวานนั้น ใครคนนั้นไม่เคยพูดถึงความเสี่ยงที่จะตามมาจากการก่อหนี้
...เพราะไม่ใช่ว่าผู้ที่ก่อหนี้จะสามารถสร้างรายได้ ให้เพียงพอจะชำระคืนมูลหนี้ และดอกเบี้ยได้เสมอไป
ในวันนี้ ...เราได้เห็นแล้วว่า คนที่ก่อหนี้ไว้นั้น อาจประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้ได้ และบางครั้งปัญหานั้นอาจยืดเยื้อ และพัวพันกับการฟ้องร้อง ดำเนินคดีในชั้นศาล ..เป็นระยะเวลายาวนาน
ในวันนี้ ...เช่นกัน ที่ ..รัฐบาลเพิ่งได้พบว่า มีประชาชน ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนมากมายที่กู้เงินจากสถาบันการเงินเอกชน และ ธนาคารของรัฐ และถูกจัดประเภทไว้ว่าเป็น ลูกหนี้ "เอ็นพีแอล" หรือกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้ มีการประเมินกันว่า มูลค่าเงินต้นของลูกหนี้ "ในระบบ" เหล่านี้ สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท
รัฐบาลจึงได้หันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้เป็น "หนี้" โดยพุ่งเป้าในการแก้ไขไปยังกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกินสองแสนบาทก่อน ลูกหนี้ที่จะได้รับการเหลียวแลในระดับต้นๆนั้นจะเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ก่อนเดือนมิถุนายน 2548 และเป็นลูกหนี้ทั้งจากประเภทสินเชื่อบุคคล และประเภทสินเชื่อบัตรเครดิต ลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงแสนราย ตัวเลขเงินต้นทั้งหมดสำหรับกลุ่มที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาเป็นลำดับแรกนี้เป็นจำนวน 7 พันล้านบาท และมีดอกเบี้ยต้องชำระอีก 2 หมื่นล้านบาท
เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าหนี้ และดอกเบี้ยค้างชำระแล้ว จะเห็นว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีผู้แสดงที่ทีไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
แนวทางการแก้ปัญหาที่ได้มีการพูดถึงในเบื้องต้น นั้นระบุไว้ว่า รัฐบาลจะลดหนี้เงินต้นให้กับลูกหนี้ถึงร้อยละ ห้าสิบ และจะไม่มีการคิดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้เหล่านี้ แต่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ลูกหนี้เหล่านี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดคืนให้ครบภายใจระยะเวลาหกเดือน
นักวิชาการบางท่านได้แสดงความเห็นไว้ว่า การแก้ปัญหาในลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ของประชาชน และส่งผลให้คนใช้จ่ายเงินเกินตัว มีหลายท่านได้หยิบยกเอาคำว่า Moral Hazard มาใช้กับเหตุการณ์นี้
Moral Hazard ที่บางท่านใช้คำไทยแทนว่า "ความเสี่ยงทางศีลธรรม" หรือ "จรรยาบรรณวิบัติ" มักเกิดขึ้นภายหลังจากการทำสัญญา โดยจะหมายถึงเหตุการณ์ที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถแอบกระทำการโดยที่คู่สัญญาไม่สามารถล่วงรู้ได้ หรือไม่มีหลักฐานเพียงพอจะเอาผิด ซึ่ง การกระทำนั้นสร้างผลเสียให้กับคู่สัญญา ในลักษณะของการสูญเสียมูลค่าของทรัพย์สิน หรือ ความเสียหายในทางการเงินต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากบุคคลหนึ่งกู้ยืมเงินจากธนาคารไป โดยบอกว่าจะนำไปใช้ลงทุนทำธุรกิจ แต่เขาผู้นั้นกลับใช้เงินที่กู้ยืมมาไปกับการซื้อสินค้าบริโภคอันฟุ่มเฟือย แทนการลงทุน เมื่อถึงคราวต้องชำระเงินกู้คืนนั้น ก็ไม่มีเงินมาคืนให้ แต่กลับกล่าวอ้างว่า นำเงินกู้ไปลงทุนแล้ว และการลงทุนเกิดความเสียหายไม่อาจสร้างรายได้ดังที่คาดการณ์ไว้ได้
ในตัวอย่างข้างต้นนี้ ธนาคารไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การที่ลูกหนี้ประสบปัญหาการชำระหนี้คืนนั้น เป็นเพราะลูกหนี้ใช้เงินกู้ไปตรงตามที่ควรแล้ว แต่ประสบปัญหาทางธุรกิจจริงๆ หรือเป็นเพราะใช้เงินกู้ไม่ถูกทางกันแน่
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลอย่างมากต่อการทำงานของตลาดการเงิน ในอันที่จะเป็นศูนย์กลางในการระดมเงินทุนจากผู้มีเงินทุนส่วนเกิน ไปให้กับผู้ขาดแคลนเงินทุน และจะสร้างปัญหาให้กับการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะจะทำให้ผู้ที่มีโครงการลงทุนดีๆ และตั้งใจจะชำระเงินกู้คืนอย่างครบถ้วน ต้องถูกเหมารวมเข้าไว้กับ กลุ่มลูกค้าที่ต้องการขอกู้ไปใช้เพื่อการบริโภค และตั้งใจจะผิดชำระหนี้
ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้นักวิชาการหลายท่านหวั่นเกรงว่าปัญหา Moral Hazard จะกัดกร่อนเสถียรภาพในภาคการเงินที่กำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540
แต่สิ่งที่น่าสะพึงกลัวกว่านั้นก็คือ วิวัฒนาการของปัญหา Moral Hazard ที่ก้าวข้ามไปสู่การเป็นวัฒนธรรมการผิดนัดชำระหนี้ ที่ก่อขึ้นจากนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนนี้ โดยจูงใจให้บรรดาลูกหนี้มีพฤติกรรมตอบสนองต่อนโยบายในเชิงกลยุทธ์ (Strategically)
กล่าวคือ บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายที่มีความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ อาจจงใจ แสดงพฤติกรรมของตนดุจดั่ง ลูกหนี้ที่ผิดชำระดอกเบี้ยได้ เนื่องจาก การประกาศนโยบายในครั้งนี้ได้สร้างทัศนคติใหม่ให้กับพวกเขา โดยชี้นำว่า ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลจะเข้ามา "อุ้ม" บรรดาลูกหนี้ “เอ็นพีแอล” การคาดการณืเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลได้สร้่าง "กรณีตัวอย่าง" ให้ประชาชนเห็นแล้ว ว่าเมื่อหนี้ภาคประชาชนพอกพูนถึงระดับหนึ่ง รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้
แม้ว่าจะมีคนออกมาโต้แย้งว่า การแก้ปัญหานี้จะไม่มีผลต่อพฤติกรรมในภายภาคหน้าของบรรดาลูกหนี้ก็ตาม เพราะไม่มีใครอยากได้ชื่อว่า "เป็นหนี้" เพราะค่านิยมในสังคมเรานั้นมีท่าทีรังเกียจ คนเป็นหนี้อยู่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่สมควรมองข้ามพฤติกรรมของสัตว์เศรษฐกิจที่ตอบสนองอย่างสมเหตุสมผลต่อแรงจูงใจ
เหตุผลที่กล่าวเช่นนี้ มีสาเหตุด้วยกันสองประการคือ หนึ่ง ความแตกต่าง(ในรูปตัวเงิน)ของการซื่อสัตย์จ่ายเงินตรงตามกำหนด กับการเป็นลูกหนี้ "เอ็นพีแอล" และได้รับการลดหย่อนมูลหนี้นั้น มากมหาศาล เพียงพอที่จะทำให้คนเลือกตัดสินใจผันตัวเองเป็นลูกหนี้ “เอ็นพีแอล”
ลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ สองแสนบาท และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ หนึ่งต่อเดือน สำหรับการกู้ยืมเป็นระยะเวลา ห้าปี จะมีภาระการชำระเงินทั้งหมด 320,000 บาทหากชำระคืนครบถ้วนตามสัญญากู้เงิน หากเทียบกับผลได้จากการเป็นเอ็นพีแอล และได้รับการปรับโครงสร้างจากภาครัฐในที่สุด แล้ว จะพบว่า ลูกหนี้จะมีภาระชำระหนี้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของเงินต้น นั่นคือ หนึ่งแสนบาท เท่านั้น ความแตกต่างในตัวเงินที่มากถึง หนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนมูลหนี้ สามารถจูงใจให้คนจงใจเบี้ยวหนี้ได้ และนี่คือพฤติกรรมที่นักวิชาการเรียกว่า Moral Hazard ซึ่งรัฐบาลไม่อาจละเลย หรือทึกทักเอาเองว่า ประชาชนจะไม่คิดจะกระทำหรือตอบสนองในเชิงกลยุทธ์่เช่นนี้
ประการที่สองคือ ผลของ Moral Hazard ต่อค่านิยมในการตกอยู่ในสภาพ “ติดหนี้” กล่าวคือ เมื่อบรรดาลูกหนี้ต่างพากัน “ชักดาบ” จำนวนลูกหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น การมีสภาพเป็นลูกหนี้ค้างชำระ จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด สิ่งที่เคยเป็นของต้องห้าม น่าละอาย หากมีคนร่วมชะตากรรมจำนวนมากแล้ว บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายก็ย่อมรู้สึก “ปกติ” มากยิ่งขึ้น
ดังนั้นค่านิยมในสังคม ต่อการเป็นหนี้ ที่จะมีผลทำให้ ลูกหนี้รู้สึกอับอายที่จะได้ชื่อว่า ผิดนัดชำระหนี้ ก็จะมีผลต่อความรู้สึกน้อยลงไป และจะทำให้คนเหล่านั้นไม่ให้ความสำคัญกับการชำระคืนหนี้ตรงเวลาเท่าใดนักด้วย
เราอาจกล่าวได้ว่า การประกาศปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนครั้งนี้จะมีผลต่อ “ผลได้” และ “ต้นทุน” ของการเป็นหนี้ ในทิศทางที่ทำให้คนเลือกที่จะเป็นหนี้มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ จะมีผลได้ในรูปของเงินที่ต้องจ่ายน้อยลงในที่สุด และมีต้นทุนลดลงจากการที่คนจำนวนมากขึ้นในสังคมเป็นหนี้เอ็นพีแอล และค่านิยมในสังคมเกี่ยวกับการเป็นหนี้ เสื่อมความรุนแรงลง
การตอบสนองต่อนโยบายแก้ไขหนี้ภาคประชาชนนี้ มิเพียงจะมีแต่ด้านของลูกหนี้เท่านั้น สำหรับในด้านของเจ้าหนี้นั้น ย่อมมีการตอบสนองในลักษณะที่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก เพราะด้านเจ้าหนี้ ก็จะมีการตอบสนองกับนโยบายในเชิงกลยุทธ์ด้วยเช่นกัน เจ้าหนี้ที่คาดคะเนได้ถึงความสูญเสียทางการเงินเช่นนี้ ย่อมต้องหามาตรการต่างๆที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ ซึ่งหากมิใช่การเพิ่มรายได้ในด้านอื่น ก็คงต้องเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการด้านต่างๆ (ในกรณีที่เจ้าหนี้โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมา)
สำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้นอกระบบ ก็อาจเริ่มคาดการณ์ถึงมาตรการแก้ปัญหาในส่วนของหนี้นอกระบบที่จะตามมา และหากมองจากแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมา เจ้าหนี้เหล่านี้ คงต้องพยายามเรียกหนี้คืนให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดชำระหนี้ หรือการเรียกสินทรัพย์ประเภทอื่นทดแทน อีกทั้งยังอาจทำการตกลงปรับมูลหนี้ ให้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม เนื่องจากคาดคะเนล่วงหน้าถึงการแฮร์คัท มูลหนี้
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้คือ ภาวะการขาดแคลนเงินทุนอย่างหนัก เพราะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งในและนอกระบบ ต่างไม่อยากปล่อยกู้กันอีกต่อไป เนื่องจากเกรงกลัวพฤติกรรม Moral Hazard ของลูกหนี้ และ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราอาจพบกับภาวะการชะลอตัวของการใช้จ่าย การชะลอตัวของสินเชื่อ และ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ต่อไป
ข้อสังเกตุทั้งหมดในบทความนี้ ตั้งอยู่บนข้อสมมุติที่ว่า รัฐบาลไม่นำเอาหนี้ภาคประชาชน เข้ามาเป็นภาระหนี้ของรัฐบาล เพราะเมื่อใดก็ตามที่หนี้ภาคประชาชนถูกโอนเข้ามาเป็นภาระหนี้ของรัฐบาลแล้ว นั่นย่อมหมายถึงภาระภาษีจำนวนมหาศาล ที่ชนชั้นกลางทั้งหลายจะหลบเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่า รัฐบาลชุดนี้คงไม่รีดภาษีเอาจากคนรวยแน่ๆ
ใครกันนะ ที่ว่า เป็นหนี้ก่อนแล้วถึงจะรวย....
2 Comments:
ไม่เคยคิดอยากเป็นหนี้เลยค่ะ มีก้อแต่ว่าเป็นหนี้ เพื่อเอาเงินที่มีอยู่ไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างเช่น แทนที่จะชำระเต็มจำนวนเป็นเงินสดตอนที่ซื้อรถ ดิฉันแบ่งชำระสามปี เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ แล้วก็นำเงินที่มีไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ดอกผลสูงกว่า แล้วเงินที่เราผ่อนชำระแต่ละปี ดิฉันก้อคิดว่าค่าของเงินมันก้อลดลงทุกวันด้วย ดังนั้น การผ่อนชำระในปีต่อ ๆ มา ก้อถือว่ามีต้นทุนที่ถูก อันนี้ไม่ทราบว่าดิฉันคิดถูกรึป่าวคะ ท่าน ดร.เศรษฐศาสตร์คะ
หรอ Barro ....ใช่ที่เป็น government spending ใน production function ป่าว ที่ลงใน JPE อ่ะ
ช่วยบอกชื่อบทความกับชื่อ journal หน่อยสิครับ
Post a Comment
Subscribe to Post Comments [Atom]
<< Home