Thursday, August 11, 2005

เศรษฐศาสตร์ของค่าเงินหยวน

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะพ่ายแพ้ต่อกระแสกดดันจากกลุ่มประเทศคู่ค้าในที่สุด เมื่อ รัฐบาลจีนได้ประกาศปรับค่าเงินหยวนที่ถูกตรึงไว้ที่ระดับ 8.28 หยวนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯมาเป็นเวลานาน ให้เพิ่มค่ามากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.11 หยวนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังประกาศยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินหยวนถูกกำหนดค่าโดย “ตะกร้าเงิน” อันประกอบด้วยสกุลเงินหลักๆของโลกแทนอีกด้วย

จีนถูกกดดันให้ปรับค่าเงินหยวน เพราะเหล่าประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนเป็นระยะเวลายาวนาน และเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายความไม่สมดุลทางการค้านี้คือ ค่าเงินหยวนที่อ่อนเกินไปช่วยให้จีน ได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าเหล่านั้น และส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป และพลอยทำให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านั้นต้องพากันตกงานเป็นจำนวนมากด้วย

แม้ว่าการปรับค่าเงินหยวนนี้เป็นสิ่งที่ตลาดการเงินคาดหมายกันมานานแล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว แต่การปรับที่ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเพียง 2.1 % นั้นไม่อาจคาดหมายได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันของจีน หรือช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของเหล่าประเทศคู่ค้ากับจีนได้แต่อย่างใด เพราะการปรับเพิ่มค่าเงินที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มิใช่การปรับค่าเงินหยวนให้สะท้อนถึงมูลค่าที่จะนำมาซึ่งสมดุลในตลาดการค้าโลก

ตัวบ่งชี้ถึงค่าเงินหยวนที่สำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนที่มีการซื้อขายกันในตลาด Offshore เพราะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่มิได้ถูกควบคุมโดยทางการของจีน ทั้งยังเป็นตัวสะท้อนถึงมูลค่าของเงินหยวนที่ตลาดการเงินประเมินไว้อีกด้วย นิตยสาร The Economist ได้รายงานไว้ว่า มีการซื้อขายเงินหยวนกันในตลาดนี้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 7.8 หยวนต่อ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการซื้อขายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หากตลาดการเงินมีประสิทธิภาพในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนที่ปรากฎในตลาด Offshore ย่อมสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของเงินหยวน ซึ่งค่าเงินที่ระดับนี้จะเป็นระดับดุลยภาพด้วย กล่าวคือเป็นระดับที่จะขจัดความไม่สมดุลในดุลการค้าให้หมดไป และไม่ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

ความต่างที่มากขนาดนี้ชวนให้ตั้งคำถามต่อมาว่าเหตุใด แรงกดดันจึงพลันหายไปสิ้นเมื่อจีนประกาศปรับค่าเงินเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ อีกทั้งจีนยังแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงินที่นำมาใช้นี้ แทบจะไม่แตกต่างไปจากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ถูกแทนที่ แต่อย่างใด (สังเกตุได้จากการประกาศให้ค่าเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้เพียงในช่วงแคบๆ ไม่เกิน ร้อยละ 0.3 ต่อวัน นั่นเอง) เพราะเหตุใดประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ จึงสงบนิ่งไม่ส่งเสียงเรียกร้องให้จีนปรับค่าเงินให้แข็งขึ้นกว่านี้

เหตุผลที่ใช้อธิบายข้อสังเกตุข้างต้นนี้คงหนีไม่พ้นว่า เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นได้ประโยชน์จากค่าเงินหยวนที่อ่อนกว่าความเป็นจริง และระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ของจีนนั่นเอง

ผลประโยชน์ในเบื้องต้นของการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนก็คือ เมื่อผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าเหล่านั้นหันมาซื้อสินค้านำเข้าจากจีน ทดแทนสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นๆที่มีราคาสูงกว่า จะส่งผลให้สินค้านำเข้าจากจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสินค้าที่ถูกนับรวมเข้าไว้ในการคำนวณค่าครองชีพ หรือดัชนีราคาสินค้าบริโภคในทันที และเนื่องจากสินค้านำเข้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่า จึงทำให้ค่าครองชีพหรือดัชนีราคาสินค้าบริโภคมีระดับที่ลดลงจากเดิม และยังทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงนักด้วย กล่าวได้ว่า สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น และช่วยแบ่งเบาภาระงานของธนาคารกลางในด้านการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านั้นอีกด้วย

ประโยชน์ในลำดับต่อมานั้นเกี่ยวโยงกับความได้เปรียบทางการแข่งขันของจีน ที่เกิดจากการที่ระบบเศรษฐกิจจีนอุดมไปด้วยแรงงานจำนวนมากที่ยินดีทำงานเพื่อแลกกับค่าจ้างแรงงานราคาเพียงเสี้ยวเดียวของค่าแรงในประเทศพัฒนาแล้ว แรงงานเหล่านี้เป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดเงินทุน (และเทคโนโลยีการผลิต) จากต่างประเทศ ให้โยกย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศจีน แน่นอนที่ประเทศจีนจะได้รับประโยชน์จากการจ้างงานและการผลิตที่เกิดขึ้นตามมา และมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำจากการส่งสินค้าที่ผลิตได้นั้นไปขายยังตลาดภายนอกประเทศ แต่หากจะมองในอีกมุมหนึ่งแล้ว เจ้าของเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งก็คือบรรดานายทุนหรือบรรษัทข้ามชาติจากประเทศพัฒนาแล้วต่างหาก ที่ได้รับประโยชน์มากกว่า เพราะตามทฤษฎีว่าด้วยการผลิตของหน่วยธุรกิจนั้น รายได้จากการขายสินค้าใดๆ ก็ตามจะต้องถูกแบ่งสรรในรูปผลตอบแทนให้กับปัจจัยต่างๆที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ คือปัจจัยทุน และปัจจัยแรงงาน แต่เนื่องจากการผลิตที่ถูกโยกย้ายไปตั้งฐานที่ประเทศจีนนั้นใช้แรงงานในราคาที่ถูกกว่า รายได้ที่แบ่งสรรให้เป็นผลตอบแทนแรงงานจึงมีมูลค่าน้อยลงด้วย และทำให้นายทุนต่างชาติรับส่วนแบ่งจากการขายผลผลิต ในฐานะเจ้าของปัจจัยทุน ในสัดส่วนที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ประโยชน์ที่ตกกับบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้จะทบทวียิ่งขึ้น หากเงินหยวนถูกตรึงค่าให้อ่อนกว่าที่ควรจะเป็น เพราะยิ่งค่าเงินหยวนอ่อนเท่าใด เงินทุนในมือของบรรษัทข้ามชาติเหล่านั้น จะมีกำลังซื้อ(ในประเทศจีน)ที่มากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว และหากทางการจีนยังคงรักษาค่าเงินหยวนให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่นที่เคยปฏิบัติมา บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้จะยิ่งได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอีก จากการที่ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านปริวรรตเงินตราอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าทั้งค่าเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยน ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนักนี้ เอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทข้ามชาติอย่างยิ่งยวด และจึงไม่น่าแปลกใจเท่าใดนักที่ เหล่าประเทศคู่ค้าของจีนต่าง “รับได้” กับการปรับค่าเงินหยวนที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ...สหรัฐอเมริกา

แม้ว่าสหรัฐอเมริกา จะมีการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนในจำนวนมหาศาล แต่ตลาดการเงินสหรัฐฯกลับเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการขาดดุลการค้านี้ สาเหตุเป็นเพราะ จีนได้นำเงินดอลล่าร์ฯที่ได้จากการเกินดุลการค้านั้น กลับมาลงทุนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ด้วยการเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯรายใหญ่ เงินดอลล่าร์ที่หมุนเวียนกลับมาลงทุนในประเทศในจำนวนมหาศาลนี้ได้ช่วยให้ระดับของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสหรัฐฯ คงอยู่ได้ในระดับต่ำ และส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานอย่างมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าประเทศสหรัฐฯก็ได้รับผลประโยชน์กลับคืน จากการที่ขาดดุลการค้ากับจีนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน จนทำให้รู้สึกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการปรับค่าเงินหยวนให้สอดคล้องกับมูลค่าในดุลยภาพนั้น อาจ “ได้” ไม่คุ้ม “เสีย”

อันที่จริงกูรูเศรษฐศาสตร์อย่าง พอล ครุกแมน ได้เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้้ด้วยเหมือนกัน เมื่อครั้งมาแสดงวิสัยทัศน์ที่ กรุงเทพฯ
ในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ พอล ครุกแมน ได้ให้ความเห็นว่า หากจีนปรับค่าเงินหยวนขึ้น เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าแล้วไซร้ จะมีผลทำให้ความได้เปรียบทางการค้าหดหายไป และส่งผลต่อเนื่องทำให้เงินทุนจากจีน หยุดไหลเวียนกลับเข้ามายังตลาดการเงินของประเทศสหรัฐฯ
เมื่อแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯหดหายไป ย่อมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ ลามต่อไปยังตลาดสินทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสหรัฐฯนั้น อยู่ในช่วงภาวะฟองสบู่ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับต่ำมานาน (ย้ำอีกครั้งว่า เป็นผลจากการเกินดุลการค้าของประเทศจีนด้วยเช่นกัน) ก่อให้เกิดการเก็งกำไรในราคาของที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้ราคาได้ล่องลอยเหนือมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ฟองสบู่ที่พาให้ราคาที่อยู่อาศัยลอยสูงนั้น มักแตกโพละในทุกครั้งที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น

ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ครุกแมนเกรงว่า หากที่จีนเลิกนำเงินดอลล่าร์ฯมาลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯแล้ว จะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก และทำให้ราคาและมูลค่าของสินทรัพย์ รวมถึงความมั่งคั่งของครัวเรือนสหรัฐฯ ลดวูบลงในทันที นั่นย่อมหมายถึงวิกฤติเศรษฐกิจอันน่าสะพึงกลัว ที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นใน...ประเทศสหรัฐอเมริกา...มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของโลก

การปรับค่าเงินหยวนเพียงเล็กน้อย ทำให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นปกติ และช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ต่างมองว่า สินค้าราคาถูกจากจีนนั้น แย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และงานไปจากคนในประเทศ หากแต่วิถีเช่นนี้สามารถดำเนินต่อไปได้เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาความไม่สมดุลต่างๆ ไม่ว่าในด้านการค้า หรือการเงินระหว่างประเทศ ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างนิยมใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในทางปฏิบัติ เพื่อการบริหารค่าเงินหยวนให้ “นิ่ง” อยู่เสมอ เมื่อต้นตอของปัญหาความไม่สมดุลทั้งหลายยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงยังไม่สามารถขีดฆ่า ความกังวลของพอล ครุกแมนเกี่ยวกับหายนะทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐฯ และสังคมเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน แม้ว่าค่าเงินหยวนจะมีการปรับค่าไปแล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงของค่าเงินหยวนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

4 Comments:

At 5:19 PM , Anonymous Anonymous said...

Good work na krub

 
At 10:10 PM , Blogger kickoman said...

แหม..ผมกำลังว่าจะเขียนเรื่อง global imbalace อยู่พอดี คุณ corgiman เขียนเรื่องนี้ตัดหน้าไปซะได้ =)

คุณ corgiman เขียนได้น่าสนใจมากครับ

ขอแจมหน่อยละกันครับ

ผมว่าจริงๆแล้วจีนเองก็คงอยากจะ appreciate ค่าเงินตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะจีนเองก็รู้ว่าการคงค่าเงินไว้นานๆ ไม่ดีต่อสุขภาพเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวแน่ๆ เพราะถ้าจีนเปิดเสรีทางการเงินและการเคลื่อนย้ายทุน โดยไม่ปล่อยให้ค่าเงินมีความยืดหยุ่นบ้าง คงเสี่ยงต่อการโจมตีค่าเงิน และสุขภาพของระบบสถาบันการเงินของจีนเอง

แต่คงหยิ่งด้วยความที่เป็นชาติยักษ์ใหญ่ พอโดนกดดันเยอะๆก็ไม่อยากจะทำอะไร แต่พอทุกคนเลิกพูดไปสักพัก ก็ประกาศตู้มขึ้นมา

แต่คราวนี้น่าสนใจครับ ว่าจีนจะคงค่าเงินระดับนี้ได้อีกนานเท่าไร เพราะผมว่าแรงกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงิน ยังมีสูงนะครับ แม้ไม่ได้เป็นแรงกดดันทางการเมือง แต่เป็นแรงกดดันจากนักเก็งกำไรทั้งหลาย เพราะแต่ละคนรู้ว่า exchange rate regime ของจีนไม่ credible แล้ว คงจะพากันทุ่มเงินเข้าไปมากกว่าเดิมอีก

และเจ้าเงินทุนเหล่านี้คงจะสร้างความกดดันเงินเฟ้อให้กับจีนพอดูเลยทีเดียว ถ้าจีนจะพยายาม sterilize เจ้าเงินทุนพวกนี้ คงจะต้องใช้เงินมหาศาลแน่ๆ


แต่ยังไงแล้ว มองในภาพกว้าง ไอ้เจ้า global imbalance เนี่ยก็ยังไม่ได้หายไปเพราะการขึ้นค่าเงินของจีนฝั่งเดียว

ถ้าเจ้าคนที่ทำให้เกิด imbalance ใหญ่ขนาดนี้ อย่างอเมริกาไม่ปรับตัว ความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ก็ยังมีอยู่

เมื่อวันก่อนผมนั่งอ่านบทความของ Morris Goldstein เรื่อง What Might the Next Emerging-Market Financial Crisis Look Like? น่าสนใจดี แต่ยาวมาก ใครว่างลองอ่านดูนะครับ

 
At 3:31 PM , Blogger Be_my_angel said...

อ่านแล้วน่าสนใจดีนะคะ กับมุมมองทางด้านเศรษศาสตร์ เพราะหากว่าบีพิจารณามุมมองส่วนตัวที่ไม่มองในแง่เศรษฐศาสตร์นั้น บีก้อชอบค่ะ ที่ค่าเงินหยวนยังอ่อนอยู่ เพราะนั่นหมายความว่า บีช็อปปิ้งซื้อของจากประเทศจีนได้สนุกสนานไม่ว่าจะซื้อในเมืองไทย หรือในเมืองจีน

บางครั้งบีเคยคิดนะคะว่า กลไกตลาดต่าง ๆ นั้น มันทำงานตามที่บีเคยเรียนจริง ๆ รึป่าว คิด ๆ แล้วก้อเลิกคิด เพราะไม่รู้จะพิสูจน์ยังไง

 
At 10:28 AM , Anonymous Anonymous said...

บทความที่ดีครับ ได้อ่านในฉบับประชาชาติธุรกิจแล้ว

ผมเชื่อว่าแรงกดดันของจีนจริงๆอยู่ในประเทศจีนเองมากกว่าต่างประเทศ

คือจีนจะบริหารเงินเฟ้อในประเทศอย่างไร ระหว่างเงินเฟ้อที่เกิดจากการเกินดุลการค้า(ในอัตราแลกเปลี่ยนเดิมและอัตราแลกเปลี่ยนใหม่)กับเงินเฟ้อที่เกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนภายใต้ความเชื่อว่า ค่าเงินRMBจะแข็งขึ้น หรือไหลเข้าเพื่อลงทุนโดยตรงในจีนรวมทั้งเหตุอื่นๆ

ที่ผมเขียนว่าแรงกดดันของจีนคือ การบริหารเงินเฟ้อภายใต้เงื่อนไขประชากร1,300ล้านคน ว่าจะบริหารอย่างไรให้ คนจีนรับกับอัตราเงินเฟ้อได้

ถ้าคน3%รับไม่ได้ 3%ของ 1,300ล้านคนเท่ากับ39ล้านคน ไม่น้อยนะครับ เป็นปัญหาใหญ่ของจีนพอสมควร

ผมคิดว่าจีนคำนึงถึงจุดนี้เป็นหลักมากกว่า แรงกดดันจากสหรัฐฯและนักเก็งกำไรอื่นๆ

ในประวัติศาสตร์จีน ความวุ่นวายจีนมาจากเรื่องเงินเฟ้อ ความอดหยาก และสงคราม แทบทั้งนั้นตลอด5พันปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะ200ปีหลัง มีกบฎชาวนาจีนจากเหตุเงินเฟ้อ และทุกขภิกภัยจนขาดแคลนอาหาร ซึ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพประเทศจีนมหาศาล และคงต้องบอกว่าเป็นเหตุสำคัญที่คนจีนอพยพออกจากประเทศจีนมาไทยและประเทศอื่นๆในแถบตะวันออกเฉียงใต้ จนเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจ ประชากร และความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเนื่องมาจากคนจีนในประเทศดังกล่าว

โดยทัศนะส่วนตัว ผมคิดว่าโลกไม่เคยเห็นและไม่เคยมีประสบการณ์ การบริหารจัดการเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีประชากรขนาด1,000ล้านคนมาก่อน ต่อไปนี้เราคงได้เห็นกัน รวมทั้งอินเดียที่เริ่มก้าวสู่ทุนนิยมมากขึ้น

และคงจะเป็นตัวอย่างของPolicymakers ของหลายประเทศในการศึกษาและรับมือผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของประเทศประชากรขนาดใหญ่

เขียนตรงๆ สำหรับผมตอนนี้กำลังกังวลเรื่อง FTAที่ไทยทำกับหลายๆประเทศมากกว่า ซึ่งคงจะเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศไปพอสมควร

ใครเล่นหุ้นพื้นฐานหรือเก็งกำไรระวังไว้แล้วกัน อีก2-3ปีข้างหน้า ปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมไทยจะเปลี่ยนไปเยอะเลยทีเดียว

 

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home